วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

โบราณสถานเมืองเพนียด

14 เมษายน 2554


บันทึกการเดินทางหน้านี้ผมชวนไปเที่ยวชมของโบราณที่ชื่อว่า "โบราณสถานเมืองเพนียด"  เป็นเมืองโบราณมีชื่อปรากฏในพงศาวดารมาแต่แรกสร้างกรุงศรีอยุธยา จากการสำรวจพบซากเมืองเก่าเมืองจันทบุรีอยู่ 2 แห่ง แห่งแรกตั้งอยู่ในตำบลตลาดจันทบุรีตะวันออก ซึ่งยังมีคูเมืองและเชิงเทินพอสังเกตได้ ส่วนอีกแห่งตั้งอยู่ในตำบลคลองนารายณ์ ชาวบ้านเรียกว่า "เมืองเพนียด" หรือ เมืองกาไวมีผู้ขุดพบศิลาจารึกที่วัดเพนียด ซึ่งเป็นวัดโบราณอยู่ทางทิศใต้ของกำแพงเมือง 400 เมตร


โบราณสถานเมืองเพนียด ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ห่างจากวัดทองทั่วประมาณ 300 เมตร โดยกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 ระบุไว้ว่ามีสิ่งสำคัญคือ กำแพงก่อด้วยศิลาแลง ด้านกว้าง 16 เมตร ด้านยาว 26 เมตร สูง 3 เมตร


สถานที่แห่งนี้สันนิษฐานว่าเดิมเป็นที่ตั้งเมืองจันทบุรียุคแรก มีอายุไม่น้อยกว่า 1,000 ปี การสำรวจสภาพของโบราณสถานเมืองเพนียด เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2499 ได้ความว่า เพนียดเป็นกำแพงก่อสร้างด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในกำแพงเป็นดินกว้างด้านละ 17 เมตร ยาวด้านละ 57 เมตร หนา 3 เมตรเท่ากันทุกด้าน แต่กำแพงด้านตะวันออกถูกทำลายไปหมดแล้วเหลือแต่ดินสูงเป็นเค้าอยู่  อีก 3 ด้านก็ถูกทำลายไปมาก เหลือสูงเพียง 1 เมตร ถึง 3 เมตร ด้านนอกของกำแพงพอกด้วยดินหนาประมาณ 3 เมตร ถึง 8 เมตร โบราณสถานเมืองเพนียดมี 2 แห่ง อีกแห่งหนึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 30 เมตร แต่หลังนี้ถูกทำลายโดยการรื้อขนเอาศิลาแลงไปจนหมดสิ้นแล้ว เหลือให้เห็นมูลดินสูงเป็นแนวอยู่ซึ่งหากไม่ได้รับการบอกเล่าจากชาวบ้านแถบนั้นก็ไม่ทราบว่า คือ เพนียดโบราณ



บริเวณเมืองเพนียดมีเค้าถนนโบราณหลายสาย มีซากสิ่งก่อสร้างปรักหักพังอยู่ทั่วไป เช่น อิฐโบราณ ศิลาแลง เศษถ้วยชามโบราณ เป็นต้น โบราณวัตถุที่ขุดพบเป็นหินทรายแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ มีเหลืออยู่ที่วัดทองทั่วก็หลายชิ้น บางชิ้นถูกนำไปไว้ที่อื่น เช่น ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกรุงเทพมหานคร


โบราณสถานเมืองเพนียด ตั้งอยู่ไม่ไกลกับวัดทองทั่ว ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีพระพุทธสุวรรณมงคล ศากยมุนีศรีสรรเพ็ชญ์ (หลวงพ่อทอง) ประดิษฐานอยู่ หลวงพ่อทองเป็นพระพุทธรูปที่มีอายุเก่าแก่คู่มากับพระอุโบสถเดิม ตามหลักฐานวัดทองทั่วได้ตั้งวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2310 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2318 แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าหลวงพ่อทองสร้างขึ้นในช่วง พ.ศ.ใด แต่คงต้องอยู่ในระหว่าง 8 ปีนี้ เพราะจะต้องสร้างพระอุโบสถเรียบร้อยแล้วจึงจะขอพระราชทานวิสุงคามสีมาได้


ภายในวัดทองทั่วมีการจัดแสดงวัตถุโบราณ และมีทับหลังอยู่ชิ้นหนึ่งเป็นที่น่าสนใจมาก คือ ทับหลังแบบถาราบริวัต (ถาลาบริวัต) ซึ่งมีอายุอยู่ในราว พ.ศ.1150 นางมิเรย เบนิสตี (Mireille Benisti) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศษล่าวถึงทับหลังแบบถาลาบริวัต (Thala Borivat) ว่าเป็นทับหลังที่เก่าแก่ที่สุดของศิลปขอมในราวกลาง พุทธศตวรรษที่ 12 ซึ่งค้นพบทับหลังศิลา 6 ชิ้น ที่ถาลาบริวัต บริเวณฝั่งขวาของแม่โขง และพบที่ปราสาทขตป (Khtop) 2 ชิ้น  นางเบนิสตี เห็นว่าทับหลังซึ่งค้นพบที่ถาลาบริวัตเก่ากว่าที่สมโบร์ไพรกุก และถาลาบริวัตอาจเป็นสถานที่ตั้งของเมืองภวปุระของพระเจ้าภรวรมัน  สำหรับทับหลัง 2 ชิ้น ซึ่งค้นพบที่ปราสาทขตปนั้น นางเบนิสตีเห็นว่าคงสลักขึ้นในปลายศิลปแบบสมโบร์ไพรกุก ราว พ.ศ. 1200  


ในประเทศไทยได้ค้นพบทับหลังแบบถาลาบริวัต 4 ชิ้นที่วัดทองทั่ว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งนับว่าเป็นทับหลังขอมแบบถาลาบริวัตอย่างแท้จริง นอกจากนั้น ยังได้ค้นพบศิลาจารึกขอมในพุทธศตวรรษที่ 12 หลักหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงการสร้างศาสนสถานของพระเจ้าอีศานวรมันที่ 1 พร้อมกันนี้ยังมีทับหลังอีกชิ้นหนึ่งซึ่งรักษาอยู่หน้าอุโบสถวัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี อาจกล่าวได้ว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างศิลปขอมแบบ ถาลาบริวัตและสมโบร์ไพรกุก และอาจสลักขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 1150.




พิกัดทางเข้าโบราณสถานเมืองเพนียด - N12.58595 E102.14281
พิกัดโบราณสถานเมืองเพนียด - N12.58586 E102.14422
พิกัดวัดทองทั่ว - N12.58763 E102.14260

ขอขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร ออนไลน์


วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

ลาวใต้

สวัสดีครับ บันทึกการเดินทางของผมในครั้งนี้เป็นครั้งพิเศษสำหรับผมแต่ไม่ได้แปลกใหม่อะไร นักเดินทางทั่วสารทิศได้ไปเยี่ยมเยือนมามากแล้ว นั้นคือการท่องเที่ยวใน สปป.ลาว หลายๆท่านคงเคยได้ยินคำว่า “มหานทีสี่พันดอน” ซึ่งมีความหมายว่า “เกาะแก่งจำนวนมากมายจนนับไม่ถ้วนที่ทอดยาวอยู่ตามลำน้ำโขง” สถานที่ดังกล่าวตั้งอยู่ที่แขวงจำปาสัก ทางภาคใต้ของ สปป.ลาว อันเป็นปฐมเหตุให้เกิดทริปลาวใต้ของผมในครั้งนั้น ทริปนี้ผมเดินทางไปเมื่อวันที่ 26 29 ธันวาคม 2552 แต่เพิ่งจะได้มีโอกาสนำมาบันทึกไว้ วันนี้อาจไม่เป็นประโยชน์มากนัก แต่ก็ภูมิใจนำเสนอ "ลาวใต้" ครับ

ทริปลาวใต้ของผม สมาชิกในทริปตกลงว่าจะขับรถไปกันเอง และเมื่อขับรถไปเองแล้วก็ขอเก็บเกี่ยวชื่นชมธรรมชาติให้ได้มากที่สุดเท่าที่เวลาจะอำนวย การเดินทาง 5 วัน 4 คืน หน้าตาจึงออกมาเป็นดังนี้ครับ

วันที่ 1 (26 ธันวาคม 2552) : ขับรถข้ามชายแดนที่ อ.ช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี ผ่านด่านฯวังเต่า เข้าเมืองปากเซแต่วันนี้ยังไม่แวะ เลยไปชมน้ำตกและกินข้าวกลางวันที่ตาดผาส้วมรีสอร์ท (N15.27740 E105.92213)  เสร็จแล้วเดินทางต่อไปยังเมืองเซกอง เมืองเล็กๆในแขวงเซกอง พักค้างคืนที่เซกองโฮเต็ล (N15.34596 E106.72690)

วันที่ 2 (27 ธันวาคม 2552) : รุ่งเช้าเดินชมบรรยากาศตลาดเช้า ชิมบาเก็ตต์สไตล์ฝรั่งเศสที่หากินได้ทั่วไปในลาว สายๆออกจากเมืองเซกอง แวะกลางทางเล่นน้ำที่น้ำตกแซกะตาม (N15.13392 E106.64628) ชมน้ำตกระยะไกลและกินข้าวเที่ยงที่ตาดฟานรีสอร์ท (N15.18396 E106.12665) มื้อเย็นเป็นหมูกระทะที่เมืองปากเซ พักค้างคืนที่โรงแรมแสงอรุณ (N15.12230 E105.80028)

วันที่ 3 (28 ธันวาคม 2552) : อาหารเช้าที่โรงแรม เสร็จแล้วเดินทางลงไปทางทิศใต้ ลงแพขนานยนต์ที่บ้านม่วง เมืองจำปาสัก (N14.91851 E105.90001) ข้ามแม่น้ำไปชมปราสาทวัดพู (N14.84729 E105.81896) เสร็จแล้วย้อนกลับทางเดิมบ้านม่วง มุ่งหน้าลงใต้ลงไปอีก เย็นนนี้ต้องจอดฝากรถไว้ที่ริมน้ำท่าเรือนากะสัง (N14.00028 E105.92017) แล้วนั่งเรือหางยาวไปดอนคอน อาหารเย็นและพักค้างคืนที่ สาลาดอนคอน (N13.96611 E105.92562)

วันที่ 4 (29 ธันวาคม 2552) : เสร็จจากอาหารเช้าแล้วออกเดินทางด้วยรถ 5 แถว ไปชมความอลังการของแก่งหลี่ผี (N13.95426 E105.91448) ถ้าเดินเลียบริมน้ำไปเรื่อยๆจะพบหาดทราย สามารถลงเล่นน้ำคลายร้อนได้ จากนั้นนั่งรถ 5 แถว ไปชมภูมิปัญญาของชาวบ้านในการดักจับปลาที่แก่งปลาสร้อย (N13.95318 E105.93610) ที่จับปลาอลังการมาก ได้เวลาบอกลาดอนคอนแล้ว เก็บขอลงเรือหางยาวกลับไปเอารถที่ท่าเรือนากะสัง ไปคอนพะเพ็งกันต่อ (N13.96418 E105.98707) ชมสายน้ำแห่งมหานทีสี่พันดอน เสร็จแล้วกลับไปพักที่ปากเซอีกคืน

วันที่ 5 (30 ธันวาคม 2552) : เวลาหมดแล้ว จำใจต้องบอกลาเมืองปากเซ แวะตลาดดาวเรืองพอเป็นพิธีแล้วขับรถข้ามแดนทางด่านฯวังเต่า เพื่อกลับเข้าสู่บ้านเกิดเมืองแม่ คุณแม่บ้านไม่ลืมที่ช๊อบกระจายที่ร้านค้าปลอดภาษีบริเวณด่านฯวังเต่า และเป็นอันสิ้นสุดทริปลาวใต้ของคณะผมในครั้งนี้ครับ แม้จะเหน็ดเหนื่อยแต่ก็ประทับใจมิใช่น้อย

มีข้อมูลบางส่วนอยู่ที่นี่ครับ >> VFC

ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร ออนไลน์

การเดินทางส่วนแรก วิ่งเป็นวงกลม วนขวา

การเดินทางส่วนที่สอง ลงใต้แล้วย้อนทางเดิม





ข้อมูลการเดินทางของทริปนี้

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

ร้านมัดหมี่ อาหารไทย (พวน)

15 กรกฎาคม 2554

สวัสดีครับ ห่างหายการแนะนำร้านอาหารไปนาน วันนี้ผมมาแนะนำร้านมัดหมี่ จังหวัดลพบุรี ร้านนี้เป็นร้านอาหารพื้นเมืองของชาวไทยพวน (ไทพวน) ครับ ก่อนจะไปดูเรื่องอาหารเรามารู้จักกันสักนิดก่อนนะครับว่า ชาวไทยพวน คือใคร มาจากไหน 

คำว่า "พวน " เป็นคำที่ใช้เรียกคนเผ่าไต หรือคนเชื้อชาติไทยสาขาหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ราบสูงตรันนินห์ (Tranninh Plateau) (ที่ราบสูงทางตอนเหนือในประเทศ สปป.ลาวในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีและภาษาพูดอันเป็นเอกลักษณ์ หรือแบบแผนของตนเอง ในอดีตกาลชนกลุ่มนี้ได้รวบรวมเมืองต่าง ๆ เช่น เมืองบริขันธ์ เมืองธุรคม เมืองเชียงคำ ฯลฯ ก่อตั้งเป็นอาณาจักรอิสระปกครองตนเอง มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองอาณาจักรและเป็นประมุข เรียกว่าอาณาจักรพวน หรือเมืองพวน โดยมีเมืองเชียงขวางเป็นเมืองหลวง ไทยพวนจะอพยพมาจากเมืองเชียงขวาง เมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันทน์ เมืองกำแพงนครเวียงจันทน์ (กำแพงนครเวียงจันทน์ ถือเป็นเขตปกครองพิเศษ  มีฐานะเทียบกับเทศบาลนคร ส่วนแขวงเวียงจันทน์ มีฐานะเป็นจังหวัด) และย้ายถิ่นมาอยู่ในประเทศไทยรวม19 จังหวัด คือ ลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร เพชรบูรณ์ นครนายก ปราจีนบุรี หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย เลย นครพนม มุกดาหาร กำแพงเพชร และมีการรวมตัวกันตั้งเป็น ชมรมไทยพวนประเทศไทย มีการจัดกิจกรรมร่วมกันตลอดมา

การอพยพย้ายถิ่นฐานของคนพวนในอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรีนั้น ไม่ทราบแน่ชัดว่าอพยพเข้ามาในสมัยใด เพราะคนพวนในอำเภอบ้านหมี่อพยพลงมาไม่พร้อมกัน และยังขาดหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรสนับสนุน แต่พอจะสรุปได้ว่าการอพยพย้ายถิ่นฐานของคนพวนในอำเภอบ้านหมี่มีอยู่ 3 ช่วง คือ อพยพมาตั้งแต่ตอนปลายสมัยกรุงธนบุรี ต่อมาอพยพเป็นจำนวนมากที่สุดในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามลำดับ

อาหารที่ชาวไทยพวนนิยม คือ ปลาร้า ดังนั้นอาหารบางอย่างจึงมีส่วนผสมของปลาร้าอยู่ด้วย เมนูแนะนำของร้านนี้คือ แกงคั่วเห็ดเผาะ, แกงคั่วหอยขม, แกงส้มพวน, ไก่ไทยรวนปลาร้า, ไข่เค็มผัดขิงดุกฟู, ปลาร้าสับ, ผัดกระเทียมดองวุ้นเส้นโบราณ, แกงอ่อมพวน, ปลาส้มตัวทอดกรอบ

ร้านมัดหมี่ ตั้งอยู่เลขที่ 8/18 ถ.พระศรีมโหสถ ต.ทะเลชุบศร อ.เมือง จ.ลพบุรี โทร. 036-412-883, 036-612-387, 081-780-4341 เปิดทุกวัน (หยุดทุกวันที่ 15 ของเดือน) เวลา 10.00-22.00 น.

พิกัดร้านมัดหมี่ : N14.79541 E100.64338

ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร ออนไลน์

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก เว็บคนไทยพวน

หน้าร้านมัดหมี่
เชลล์ชวนชิม วันที่ผมไปชิมเจ้าของป้ายมาเองเลยครับ

รายการอาหารเด่นที่แนะนำ

บรรยากาศในร้าน คุณชายถนัดศรี ก็มาร้านในวันนั้นด้วย

ขนมถ้วย ของว่างระหว่างรออาหาร
แกงส้มเห็ดเผาะ

แกงส้มพวน

แกงอ่อมปลาม้า

ใส้กรอกปลา

ผัดวุ้นเส้น

ไข่เค็มผัดพริกขิงดุกฟู

ไก่ไทยรวนปลาร้า

ปลาส้มตัวทอด

ค่าเสียหายทั้งหมด
ลานจอดรถอยู่ข้างๆร้าน