วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ป้าบัว...คนที่ควรถูกยกย่องหรือถูกเมินเฉย

26 มิถุนายน 2554

ต้องขอขอบคุณเพื่อนเราคนหนึ่งและการสนับสนุนจากเพื่อนๆอีกหลายคน ที่ลุกขึ้นมาทำสิ่งที่เรียกว่าการ “แบ่งปัน” ที่ไม่ใช่การกดปุ่ม “แบ่งปัน” ใน Facebook แต่เป็นการแบ่งปัน “โอกาส” ที่เรามีแต่คนอื่นไม่มี และที่เราเขียนบทความนี้ก็มิได้มีเจตนาอื่นใด นอกจากอยากจะบันทึกไว้ว่าพวกเราเองก็ได้ยื่นมือออกไปช่วยแบ่งปัน แม้จะไม่มากมาย แต่ก็น่าจะบรรเทาเบาบางความทุกข์ของใครสักคนหนึ่งลงไปได้บ้าง และหากพวกเรามีกิจกรรมแบบนี้อีก เราก็จะนำมาบันทึกไว้ต่อไป

ครั้งนี้เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2554 กลุ่มพวกเรามีโอกาสได้ไปมอบของกินของใช้และเงินจำนวนหนึ่งให้แก่ “ป้าบัว” เพื่อเอาไว้ใช้สำหรับเลี้ยงหมาแมวที่แกรับเลี้ยงไว้ “ป้าบัว” ผู้ซึ่งถือว่าเป็นแม่พระของหมาจรจัด และยังเป็นผู้ก่อความรำคาญให้แก่ชาวบ้านแถวนั้นในอีกภาพหนึ่งด้วย ได้ลงแรงโดยได้มิได้รับค่าตอบแทนจากใคร เลี้ยงหมาจรจัดแถวนั้นและหมาที่คนเคยใจบุญเจตนานำมาปล่อยไว้  ปัจจุบันมีหมาจรจัดมากถึง 70-80 ตัว แมวจรจัด 50 ตัว ไก่ และเต่าอีก 30-40 ตัว

พวกเราสอบถามป้าแกอยู่สักพักก็ทราบว่า ที่ดินที่แกรับเลี้ยงอยู่นี้ไม่ใช่ของแกหรอก เป็นของผู้มีชื่อคนหนึ่ง เจ้าของที่ดินก็ทราบว่าแกทำอะไรอยู่ แต่ก็ยินดีให้แกทำตอไป โดยถือว่าให้ป้าแกเฝ้าที่ดินให้ไปในตัว ป้ายังเล่าต่อไปอีกว่า ไม่อยากทำหรอกมันเหนื่อยกายเหนื่อยใจ แต่ก็เลิกไม่ได้ เพราะมันไม่จบไม่สิ้น เมื่อหลายวันก่อนก็มีคนเอาหมามาให้แกเลี้ยงป่วยเป็นขี้เรื้อนซะด้วย ซ้ำยังมีคนเอาหมาแม่ลูกอ่อนมาทิ้งไว้ที่ป่าหญ้าข้างๆหมู่บ้านอีก ตอนนี้มันออกลูกมาแล้ว 4-5 ตัว เคยแวะไปดูก็อดสงสารมันไม่ได้ ตอนกลางคืนยุงรุมตอมกัดหน้าตาลูกหมาเต็มหน้าเต็มตาไปหมด ก็พอดีได้เงินจากคณะเรา ก็จะเอาไปซื้อผ้ากันฝนให้แม่ลูกคลอกนี้ คงจะได้ไปเอาออกมาจากป่าหญ้ามาเลี้ยงไว้รวมกันที่นี่เร็วๆนี้

เราดูแล้วก็เหมือนติดอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิด ฝ่ายหนึ่งก็เพื่อมนุษยธรรม อีกฝ่ายหนึ่งก็เพื่อความเป็นอยู่ของตน ต่างก็ไม่ผิด ก่อนลากลับแกบอกกับคณะเราว่า รู้สึกของคุณที่นำของมาให้ในวันนี้ ตัวแกไม่มีอะไรจะตอบแทนพวกเรา นอกจากคืนนี้แกจะตั้งใจสวดมนต์ขอพรพระให้กับคณะเรา แกมีกำลังทำได้เพียงเท่านี้ พวกเราได้ยินแล้วก็รู้สึกดีมากเลย....สาธุ

บ้านป้าบัว อยู่ที่ 56/1 หมู่บ้านเจษฎา 1 ซ.พหลโยธิน 71 แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210 
พิกัดจีพีเอส :  N13.93208 E100.62447  

ป้าบัวแกมีเว็บไซต์ด้วยนะ คงมีผู้สนับสนุนจัดการให้ ลำพังแกเองคงไม่สามารถทำได้หรอก 
ติดตามรายละเอียดได้ที่   http://www.paboua.org/


ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร


อยู่หน้าหมู่บ้านเจษฎา 1 ซ.พหลโยธิน 71

พื้นที่ฝั่งซ้าย

พื้นที่ฝั่งขวา

พันธุ์นี้ก็ยังเอามาปล่อย

ช่วยกันคนละไม้ คนละมือ

อาหารเม็ดสำหรับหมาและแมว

อยู่กันตามมีตามเกิด

เต่าก็มี

ตัวเบ่อเร่อเลย

ของบางส่วนที่นำมาให้ป้าบัว

เงินสดอีกจำนวนหนึ่ง

ถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก

คืนนี้ป้าจะตั้งใจสวดมนต์ขอพรพระให้ทุกคน

ครัวนอกเอาไว้ต้มข้าว

ครัวในเก็บของหุงข้าว

แผนกต้อนรับตัวกลมเป็นกระสอบข้าวเลย

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล

14 เมษายน 2554

อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี สร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางของกลุ่มคริสตชนมาเป็นเวลานานถึง 300 ปี เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดความเชื่อแบบครสิตชน โดยอยู่ภายใต้การดูแลของพระสังฆราชและคณะสงฆ์สังฆมณฑลจันทบุรี มีอดีตเจ้าอาวาสผู้ศักดิ์สิทธิ์ของวัดอยู่องค์หนึ่งคือ นักบุญ เอเตียน กือโนต์ โดยมีภาพของท่านบนกระจกสี และรูปปั้นของท่านอยู่ภายในวัดและบ้านพักพระสงฆ์


รูปแบบการก่อสร้าง เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตก "ศิลปะแบบโกธิค" ที่หอสูงจะมีนาฬิกาเรือนใหญ่ขนาดเส้นรอบหน้าปัด 4.7 เมตร ติดอยู่ จากหอสูงนี้สามารถมองเห็นทัศนียภาพของเมืองจันทบุรี ได้ไกลออกไปประมาณ 2 กิโลเมตร วัดนี้ได้รับการตกแต่งทั้งภายในและภายนอกด้วยศิลปะเก่าแก่อย่างสวยงามและมีคุณค่ายิ่งนัก เช่น ภาพกระจกสีของบรรดานักบุญหลายองค์ที่บริเวณเหนือพระแท่น และเหนือหน้าต่างของวัด เมื่อแสงอาทิตย์สาดส่องมาจากภายนอกจะทำให้มองเห็นความงดงามของภาพบนกระจกสีได้อย่างชัดเจน บริเวณเหนือพระแท่นกลางวัดมีรูปปั้นพระประธาน คือ รูปพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล ตั้งตระง่านอย่างงดงามรวมถึงรูปปั้นของนักบุญยออากิม และนักบุญอันนา ซึ่งเป็นบิดาและมารดาของพระนาง


วัดแม่พระปฏิสนธินิรมล สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2255 ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดโบสถ์ อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี ต่อมา พ.ศ.2377 ได้ย้ายมาฝั่งตะวันออกของแม้น้ำ และได้สร้างเป็นอาคารถาวรก่ออิฐถือปูนตามศิลปะแบบโกธิค โดยเริ่มสร้าง 6 มกราคม พ.ศ.2499 แล้วเสร็จสมบูรณ์จึงได้มีพิธีเสกอย่างสง่าโดยได้รับเอา พระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล เป็นองค์อุปถัมภ์ของวัดเมื่อ 10 มกราคม พ.ศ.2452 และได้สถาปนาขึ้นเป็นอาสนวิหารเมื่อ พ.ศ.2487


รูปปั้นพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล ที่ประดับด้วยอัญมณีหลากหลายทั้งองค์ หลายพันเม็ด ล้ำค่า สวยงามยิ่งนัก


ที่เห็นไกลๆน่าจะเป็นรูปปั้นของนักบุญ เอเตียน กือโนต์


กระจกสีสวยงามจริงๆครับ 




ขอเสริมอีกนิดว่า การเข้าชมที่นี่มีระเบียบที่ต้องปฏิบัติตามดังนี้ครับ

1. การแต่งกายให้สุภาพ และเหมาะสมกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
1.1 ผู้ชาย ห้ามใส่เสื้อกล้าม รองเท้าแตะ
1.2 ผู้หญิง ห้ามใส่เสื้อกล้าม หรือเสื้อไม่มีแขน กางเกงหรือกระโปรงสั้นเหนือเข่า รองเท้าแตะ
1.3 หากแต่งกายไม่สุภาพ และมีความประสงค์จะเข้าชมอาสนวิหารฯ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อขอรับผ้าคลุมไหล่ หรือผ้านุ่ง (อยู่ในดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ประจำอาสนวิหารฯ)

2. สำรวมกิริยา
2.1 ไม่ส่งเสียงดัง
2.2 ไม่แสดงกิริยาไม่สุภาพ และไม่เหมาะสม เช่น ยกเท้าขึ้นพาดบนเก้าอี้ เดินโอบกัน กอดกัน เนื่องจากอาสนวิหารฯ เป็นศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์
2.3 ห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดเข้ามารับประทานในอาสนวิหารฯ และห้ามทิ้ง เศษขยะใดๆ ในอาสนวิหารฯ
2.4 ปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ และห้ามนำสื่อใดๆ อันส่งเสียงดับรบกวนต่อความสงบของ ศาสนสถาน เช่น เครื่องเล่นเพลง เป็นต้น

3. การบันทึกภาพ
3.1 ต้องไม่แสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมเมื่อถ่ายภาพในอาสนวิหารฯ
3.2 ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพบุคคลโดยมีบรรณฐาน (พระแท่นศักดิ์สิทธิ์) เป็นฉากประกอบ โดยแสดงกิริยาไม่สุภาพหากฝ่าฝืนจะยึดฟิล์มหรือสื่อบันทึกภาพนั้นๆ
3.3 ห้ามมิให้บันทึกภาพรบกวนพิธีกรรม ห้ามมิให้ผู้บันทึกภาพเดินผ่านช่องทางเดินกลางส่วนหน้านับแต่แนวประตูซ้ายขวา และห้ามหยุดบันทึกภาพบริเวณหน้าพระแท่น โดยเด็ดขาด ยกเว้นผู้ที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสเท่านั้น

4. ห้ามเข้าบริเวณบรรณฐาน (พระแท่นศักดิ์สิทธิ์) ธรรมาสน์โบราณ ตู้แก้บาป ซึ่งเป็นศาสนสถานสำหรับพระสงฆ์ประกอบพิธีและห้ามขึ้นไประเบียงชั้นสอง

5. กรณีเข้าชมเป็นหมู่คณะ และบริษัทนำเที่ยว ต้องทำหนังสือขออนุญาตจากเจ้าอาวาสก่อน และต้องให้วิทยากรของอาสนวิหารฯเป็นผู้บรรยายข้อมูล

6. กรณีหมู่คณะที่มิได้แจ้งล่วงหน้าตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ต้องลงบันทึกในสมุดเซ็นเยี่ยม และให้วิทยากรของอาสนวิหารฯเป็นผู้บรรยายข้อมูล

7. กรณีมีมัคคุเทศก์ประจำคณะ ห้ามมิให้มัคคุเทศก์บรรยายข้อมูลเอง ต้องติดต่อวิทยากรของ อาสนวิหารฯหรือหากมิประสงค์จะให้บรรยายสามารถขอรับแผ่นพับข้อมูลอาสนวิหารฯ ได้


ขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.cathedralchan.or.th/
พิกัดทางเข้าอาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล - N12.60937 E102.11941


ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร



วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พระมหาเจดีย์ชัยมงคล

13 ธันวาคม 2552

พระมหาเจดีย์ชัยมงคล เป็นผลงานอันยิ่งใหญ่อลังการของหลวงปู่ศรี ณ วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วราราม ตำบลผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด ระยะทางจากตัวเมืองร้อยเอ็ดประมาณ 80 ก.ม มีลักษณะเป็นมหาเจดีย์ขนาดใหญ่ที่วิจิตรพิสดาร ใช้ศิลปกรรมร่วมสมัยระหว่างภาคกลางและภาคอีสานเป็นการผสมกันระหว่างพระปฐมเจดีย์และพระธาตุพนม ใช้งบประมาณก่อสร้างถึงปัจจุบันกว่า 3,000 ล้านบาท

พระมหาเจดีย์นี้ออกแบบโดยกรมศิลปากร เป็นสีขาวตกแต่งลวดลาย ตระการตาด้วยสีทองเหลืองอร่าม รายล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็กทั้ง 8 ทิศสร้าง ในเนื้อที่ 101 ไร่ กว้าง 101 เมตร ยาว 101 เมตร ความสูง 101 เมตร รวมยอดทองคำเป็น 109 เมตร ใช้ทองคำหนัก 4,750 บาท หรือประมาณ 60 กิโลกรัม ภายในองค์พระมหาเจดีย์เหมือนอยู่บนวิมานแดนสวรรค์

ด้านในของพระมหาเจดีย์มี 5 ชั้น
ชั้นที่ 1 เป็นห้องโถงกว้างใหญ่ โอ่อ่า ผนังจารึกนามทานาธิบดีต่าง ๆ ใช้เป็นห้องประชุม บำเพ็ญบุญ
ชั้นที่ 2 เป็นห้องโถงโอ่อ่าเช่นกัน ผนังติดตั้งรูปพระพุทธประวัติ ลวดลาย ไทยวิจิตรพิสดาร
ชั้นที่ 3 เป็นที่ประดิษฐานรูปพระอาจารย์ ปราชญ์ อีสานในอดีต เป็นรูปเหมือนสลักหินอ่อน และหุ่นรูปเหมือนพระสุปฏิปัน โน 101 องค์
ชั้นที่ 4 จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงวัดวาอาราม สถานปฏิบัติสม ถะวิปัสสนา กรรมฐานที่หลวงปู่ศรี เคยบำเพ็ญธรรม
ชั้นที่ 5 บันไดเวียน 119 ชั้น เป็นห้องโถงรูประฆัง 8 เหลี่ยมบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

พิกัดพระมหาเจดีย์ชัยมงคล : N16.33239 E104.32050

ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร












วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง

9 กุมภาพันธ์ 2552

ภูหลวง มีความหมายว่า ภูเขาที่ยิ่งใหญ่ หรือหมายถึง ภูเขาของพระเจ้าแผ่นดิน นับว่าเป็นนามที่เป็นศิริมงคลยิ่งที่บรรพบุรุษได้ตั้งชื่อไว้ ภูหลวงเกิดจากการยกตัวขอบพื้นผิวโลกและดินส่วนที่อ่อนถูกพัดพาลงสู่ที่ต่ำ คงเหลือหินที่เป็นโครงสร้างที่แข็งไว้เป็นภูเขา เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูหลวง เดิมเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูหลวงและป่าภูหอ ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเปื่อย ป่าภูขี้เถ้า และป่าภูเรือ ได้รับการจัดตั้งเป็นเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 91 ตอนที่ 216 เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2517 มีเนื้อที่ 848 ตารางกิโลเมตร หรือ 530,000 ไร่

ต่อมาในปี พ.ศ.2534 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นใหม่ เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าภูหลวงเนื้อที่ ตำบลปลาบ่า ตำบลท่าศาลา อำเภอภูเรือ ตำบลโพนสูง ตำบลวังยาว ตำบลอีปุ่ม อำเภอด่านซ้าย ตำบลหนองงิ้ว ตำบลเขาหลวง ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง และตำบลภูหอ ตำบลเลยวังไส อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย ให้เป็นเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า พ.ศ.2534" มีเนื้อที่ประมาณ 897 ตารางกิโลเมตร หรือ 560,593 ไร่

เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าภูหลวง มีสภาพเป็นเทือกเขาใหญ่ แนวเขตเริ่มจากระดับความสูงประมาณ 400 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยอดเขาสูงสุดมีความสูงประมาณ 1,571 เมตร คือ ภูขวาง เทือกเขาด้านตะวันออกเป็นลักษณะภูเขาลูกใหญ่ที่มีที่ราบบนหลังเขาที่ระดับความสูงประมาณ 1,200-1,500 เมตร เนื้อที่ประมาณ 140 ตารางกิโลเมตร เทือกเขาด้านตะวันตกเป็นภูเขาลูกเล็กๆ ตั้งชันสลับซับซ้อนเป็นลูกคลื่น ระดับความสูงประมาณ 600-800 เมตร ภูเขาทางด้านตะวันออก เป็นหน้าผาสูงชันลาดสู่ทิศตะวันตก เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเลยซึ่งไหลผ่านกลางพื้นที่แล้วไหลย้อนไปสู่แม่น้ำโขงและแม่น้ำป่าสัก ซึ่งเกิดจากลำธารหลายๆสายทางทิศตะวันตก ก่อเกิดแม่น้ำไหลผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ลงสู่ภาคกลาง ไปบรรจบกับแม่น้ำลพบุรีก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทยในที่สุด

สำหรับสภาพภูมิอากาศของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ส่วนใหญ่จะเย็นสบายตลอดทั้งปี ในฤดูฝนบนหลังภูฝนจะตกชุก พอย่างเข้าเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม ก็เป็นฤดูหนาวซึ่งอากาศจะหนาวจัดมาก มีเมฆหมอกในตอนเช้าและลมพัดแรงจัด อุณหภูมิประมาณ 0-16 องศาเซลเซียส ส่วนในฤดูร้อน อากาศจะเย็นสบาย ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิประมาณ 20-24 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนรายปีเฉลี่ย 1,238 ม.ม. สภาพป่าไม้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงนับไว้ว่ามีความอุดมสมบูรณ์มาก เนื่องจากตั้งอยู่ในระดับความสูง 400-1,500 เมตร และได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม ดังนั้นสภาพของสังคมพืชจึงแตกต่างกันไปตามระดับความสูง เช่น ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าไผ่ ทุ่งหญ้า

การขึ้นไปพักแรมที่ภูหลวงต้องติดต่อทำเรื่องขออนุญาตเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  ล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วัน หรือ ติดต่อที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ตู้ ปณ. 52 ปทจ. เลย อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย 42000 ที่พักด้านบนภูหลวงจะมีจำนวนจำกัด ต้องทำเรื่องขออนุญาตมาก่อนจึงสามารถเข้าพักได้ มีโซนกางเต็นท์อยู่บริเวณที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง อยู่ก่อนถึงหน่วยฯ โคกนกกระบา 10 กม. (ที่หน่วยฯ โคกนกกระบา ไม่อนุญาตให้กางเต็นท์) หรือจะพักรีสอร์ทใน อ.ภูเรือ ซึ่งมีอยู่มากมาย แล้วขึ้นไปเที่ยวภูหลวงแบบไปเช้า-กลับเย็นก็ได้


หน่วยฯโคกนกกระบา สูงจากระดับน้ำทะเลฯ ประมาณ 1,350 เมตร สามารถเดินชมความงามของพรรณไม้และกล้วยไม่ป่า ตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ "ลานสุริยัน" ซึ่งมีระยะทางประมาณ 1,870 เมตร และยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะไกล คือเส้นทางสาย ผาช้างผ่าน ผาสมเด็จ โคกหนองงูเหลือม และผาเตลิ่น ตามทางจะพบทุ่งดอกไม้หลายชนิด โดยเฉพาะกุหลาบพันปี และกล้วยไม้ป่า ที่ขึ้นตามพื้นดิน ตามลานหิน หรือบนคาคบไม้ ผาเตลิ่น เป็นหน้าผาที่มีความสูงที่สุดของภูหลวง โดยสูงจากระดับน้ำทะเลฯประมาณ 1,550 เมตร จากจุดนี้จะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกลรอบตัวอย่างชัดเจน เส้นทางนี้ยังมีรอยเท้าไดโนเสาร์ที่ปรากฏอยู่บนแผ่นหินอย่างชัดเจนอีกด้วย 


พิกัดตลาดเช้าภูเรือ : N17.45385 E101.36240
พิกัดแยกบ้านสานตม : N17.44187 E101.47061
พิกัด ด่านเขตฯภูหลวง : N17.36293 E101.50513
พิกัดสำนักงานเขตฯภูหลวง : N17.33455 E101.50856
พิกัดลาน ฮ. : N17.28196 E101.51968
พิกัดหน่วยพิทักษ์ป่าโคกนกกระบา : N17.28015 E101.51870
พิกัดโรงอาหาร : N17.28036 E101.51837
พิกัดลานสุริยัน : N17.27909 E101.51835
พิกัดผาเยือง : N17.27937 E101.51640
พิกัดผาช้างผ่าน : N17.28305 E101.52753
พิกัดผาสมเด็จ : N17.29361 E101.52960
พิกัดผาเตลิ่น : N17.30314 E101.53058
พิกัดรอยเท้าไดโนเสาร์ : N17.30493 E101.52621

ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
ทัศนาจร