วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หาดทรายดำ

15 เมษายน 2554

หาดทรายดำ อยู่ในความดูแลของ สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 4  (น้ำเชี่ยว ตราด) เรียกกันว่า "โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติหาดทรายดำ" ตั้งอยู่ที่ บ้านน้ำเชี่ยว หมู่ 2 ตำบลหนองโสน อำเภอเมือง จังหวัดตราด มีสะพานไม้เป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติยาวถึง 1,000 เมตร หาดทรายดำเป็นหาดแห่งเดียวในประเทศไทย และมี 5 แห่งเท่านั้นในโลก คือมีที่ ไต้หวัน มาเลเซีย แคลิฟอร์เนีย ฮาวาย และประเทศไทย ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดตราด บริเวณท้องที่หมู่ 6 ต.แหลมงอบ อ.แหลมงอบ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแหลมมะขาม มีลักษณะเป็นหาดทรายสีดำ ห้อมล้อมด้วยป่าชายเลยผื่นใหญ่อันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ พันธุ์ไม้และทรัพยากรสัตว์น้ำ ในอดีตป่าชายเลนบริเวณหาดทรายดำมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม ต่อมาได้มีการปลูกป่าชายเลนเสริมในพื้นที่โดยนักเรียนและประชาชนในท้องถิ่น ทำให้ปัจจุบันป่าชายเลนบริเวณหาดทรายดำมีความอุดมสมบูรณ์ ได้รับการฟื้นฟูเอื้อประโยชน์ต่อชุมชนในการประกอบอาชีพ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นแหลงอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนชนิดต่างๆ เช่น ปูดำ ปูแสม ปลาชนิดต่างๆ หอยขี้ค้อน เป็นต้น

เดิมหาดทรายดำแห่งนี้เรียกว่า หัวสน เป็นหาดที่ชาวมุสลิมเป็นเจ้าของ และเคยตั้งสุเหร่าบริเวณหัวสน ต่อมาได้ย้ายไปทำให้เป็นสถานที่ร้าง จนกระทั้งได้มีชาวบ้านชื่อ ยายม่อม ได้มานั่งหมกตัวและหายจากการเป็นอัมพฤกษ์ จึงทำให้ชาวบ้านเชื่อกันว่าทรายบริเวณหาดทรายดำรักษาโรคได้ จึงได้บอกต่อๆกันจนเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ถึงแม้หาดทรายดำจะอยู่ในเขตป่าชายเลน แต่เนื่องจากมีลมมรสุมได้พัดเอาทรายไปอยู่บริเวณป่าชายเลนหน้าหาดทรายดำ ทำให้มีทรายบริสุทธิ์มากกว่าบริเวณอื่นที่อยู่ในป่าชายเลนซึ่งมีโคลนและเปลือกหอยปะปนจำนวนมาก ต่อมาได้มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจมากขึ้น เนื่องจากมีความเชื่อว่าสามารถรักษาโรคต่างๆได้ เช่น โรคปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดหัวเข่า ปวดหลัง หรือสิว ฝ้า อัมพฤกษ์ เป็นต้น

ผลการตรวจสอบโดยกองธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ปรากฏว่า ทรายดำแห่งนี้มีชื่อทางวิชาการว่า "ไลโมไนต์” (Limonite) ลักษณะเป็นสีน้ำตาลแดงไปจนถึงดำ เป็นแร่ที่เกิดจากการยุบสลายตัวของเศษเหมือง และเปลือกหอย และผสมด้วยควอตซ์  (ซิลิก้า) หรือเป็นการผุกร่อนของเหล็ก ในทางการแพทย์ไม่มีผลในทางการรักษาโรค  แต่ว่ามันดำจริงๆนะเออ….

พิกัดทางเข้าหาดทรายดำ - N12.17903 E102.40588
พิกัดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติหาดทรายดำ - N12.17349 E102.40604

ขอขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร ออนไลน์





วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ทุ่งหินเทิน

5 ธันวาคม 2548

ทุ่งหินเทิน อยู่ที่หมู่ 5 ตำบลปางสวรรค์ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวมีข้อมูลไม่มากนักทราบแต่เพียงว่า ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 70 กิโลเมตร หรือจากอำเภอลาดยาวไปตามถนนลาดยางบ้านห้วยน้ำหอม ประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นทุ่งหญ้าเชิงเขาที่มีกลุ่มก้อนหินขนาดใหญ่ตั้งวางซ้อนกันอยู่หลายแห่งหลายรูปแบบ กระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ ในลักษณะที่สัมผัสกันเพียงเล็กน้อยเหมือนมีคนจับวาง นับเป็นสวนหินธรรมชาติที่สวยงามแปลกตา เป็นปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาในหินชั้น มีการผุพังสึกกร่อนซึ่งให้ภูมิลักษณ์ที่สวยงามในรูปแบบหินทรงตัว (balanced rocks, หินที่มีรูปร่างและขนาดต่างกันมาก วางซ้อนกันในแนวดิ่งด้วยจุดศูนย์ถ่วงที่พอดี) กระจัดกระจายเป็นกลุ่มๆ เต็มท้องทุ่งในเนื้อที่ประมาณ 14 ไร่

พิกัดทุ่งหินเทิน : N15.66908 E99.54792

ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร 








วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ปราสาทสด๊กก๊อกธม

12 สิงหาคม 2552




ปราสาทสด๊กก๊อกธมหรือปราสาทเมืองพร้าว เป็นโบราณสถานประเภทหินอยู่กลางป่าตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ตั้งอยู่ที่ บ้านหนองเสม็ด หมู่ 3 ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว เป็นศาสนสถานฮินดู ที่สร้างขึ้นตามลักษณะศิลปะเขมรแบบคลังต่อบาปวน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-16

ปราสาทสด๊กก๊อกธม แปลว่า ปราสาทใหญ่ที่มีต้นกกขึ้นรกรุงรัง เป็นปราสาทก่อด้วยหินและศิลาแลง หันไปทางทิศตะวันออก ประกอบไปด้วยตัวปราสาทและบาราย ตัวปราสาทด้านนอกเป็นกำแพงแก้ว ก่อด้วยศิลาแลง กว้าง 120 เมตร ยาว127 เมตร มีทางเข้าออกสองทาง คือ โคปุระ (ซุ้มประตู) ทางทิศตะวันออก และทางเข้าเล็กๆพอตัวคนผ่านเข้าไปได้ทางทิศตะวันตก มีคูน้ำรูปตัวยูล้อมตัวปราสาท เว้นทางเข้าออกทางทิศตะวันออกและตะวันตกไว้สองด้าน ตัวคูกว้างประมาณ 20 เมตร ด้านในมีระเบียงคดล้อมรอบตัวปราสาท กว้างประมาณ 36.5 เมตร ยาวประมาณ 42.5 เมตร มีโคปุระอยู่กึ่งกลางกำแพงทั้งสี่ด้าน ภายในระเบียงคดเป็นที่ตั้งของปรางค์ประธานตั้งอยู่ตรงกลาง มีประตูเข้าทางเดียวด้านตะวันออก ส่วนอีกสามด้านเป็นซุ้มประตูหลอกเข้าออกไม่ได้

ภายในปรางค์ประธานเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ ซึ่งเป็นรูปเคารพแทนองค์พระศิวะ บ่งบอกว่าปราสาทแห่งนี้เป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย พื้นที่ด้านหน้าปรางค์บริเวณมุมระเบียงคดเป็นที่ตั้งบรรณาลัยสองหลัง สันนิษฐานว่าเป็นที่เก็บตำราคัมภีร์ ปราสาทแห่งนี้มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกของไทย มีการค้นพบหลักจารึกจำนวน 2 หลัก ซึ่งมีความสำคัญต่อการศึกษาลำดับกษัตริย์ราชวงศ์เขมรอย่างมาก แม้ในดินแดนเขมรเองก็ยังไม่เคยมีการพบจารึกลักษณะนี้

จารึกหลักแรกระบุว่าพบที่ บ้านสระแจง ต.โคกสูง (ไม่ได้พบที่ปราสาท) ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ.1480 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 (ศิลปะแบบเกาะแกร์) เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการถวายทาสชายหญิงดูแลรักษาศิวลึงค์

จารึกหลักที่สองระบุว่าพบที่ ปราสาทเมืองพร้าว อันเป็นชื่อเดิมของปราสาทสด๊กก๊อกธม ตัวจารึกระบุศักราชตรงกับ พ.ศ.1595 (ศิลปะแบบคลัง-บาปวน) จากรึกนี้ได้กล่าวถึงการที่พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 พระราชทานที่ดินและคนเพื่อสร้างปราสาทถวายแด่พราหมณ์สทาศิวะผู้เป็นอาจารย์ กล่าวถึงประวัติการประดิษฐานลัทธิเทวราช และประวัติการสืบสายตระกูลพราหมณ์ในราชสำนักของเขมร ที่มีความสัมพันธ์กับลำดับการสืบสันตติวงศ์ของกษัตริย์เขมร อันเป็นหลักฐานที่มีคุณค่าต่อการศึกษาประวัติศาสตร์เขมรสมัยโบราณเป็นอย่างมาก ปัจจุบันนี้จารึกสด๊กก๊อกธมได้ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร

ที่ปราสาทด้านขวามีสิ่งที่น่าสนใจ คือ หน้าบันที่มีลวดลายจำหลักเป็นรูปพระโพธิสัตว์ ประทับนั่งเหนือเกียรติมุข ที่เชิงชายเป็นรูปนาคปรก ซุ้มประตูทางเข้าด้านหน้ามีขนาดใหญ่เกือบเท่าซุ้มประตูทางเข้าที่ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ส่วนปราสาทด้านซ้ายและปราสาทองค์ประธานอยู่ในสภาพที่ปรักหักพัง ห่างจากกำแพงด้านนอกเล็กน้อย ทางทิศตะวันออกจะพบสระน้ำขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 200 เมตร ยาวประมาณ 300 เมตร

ในปี พ.ศ.2505 กรมศิลปากร ได้เข้ามาเข้ามาสำรวจและทำการบูรณะปราสาท โดยได้นำวิธี อนัสติโลซิส” (Anastylosis) มาใช้เป็นแห่งแรก อนัสติโลซิส” (Anastylosis) เป็นภาษากรีก หมายถึง "การบูรณะปฏิสังขรณ์" (Restoration) “การตั้งเสาขึ้นใหม่” (Re-Erection of Columns) แล้วได้กลายมาเป็นความหมายในปัจจุบันว่า "การประกอบขึ้นใหม่ของชิ้นส่วนที่มีอยู่แต่แยกหลุดออกจากกัน" (The Reassembling of Existing but Dismembered Parts) กล่าวให้เข้าใจโดยง่ายก็หมายความว่า เป็นกรรมวิธีบูรณะโบราณสถาน โดยทำสัญลักษณ์อิฐหินแต่ละก้อน ตลอดจนชิ้นส่วนลวดลายต่าง ๆ ที่พบบริเวณโบราณสถานอย่างละเอียด ก่อนที่จะรื้อออกทั้งหมด จนถึงขั้นขุดรากฐานตรวจสอบว่าแข็งแรงพอหรือไม่ หากยังไม่แข็งแรงพอก็ต้องเสริมฐานให้มั่นคง หลังจากนั้นก็นำชิ้นส่วนที่รื้อออก รวมทั้งชิ้นส่วนที่พบในบริเวณนั้นไปประกอบให้เหมือนเดิมตามที่บันทึกไว้ตามหลักวิชาการ

วิธีซ่อมแบบนี้เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์ชนิดหนึ่ง ที่มุ่งหวังทำให้เห็นลักษณะ โครงสร้างของซากอาคารให้ชัดเจน โดยการนำกลับสู่รูปทรงเดิม ใช้วัสดุดั้งเดิมที่เหลืออยู่ ซึ่งอยู่ในสภาพเหมาะที่จะใช้การได้ และมีอยู่ที่แหล่งเดิมอยู่แล้ว การทำงานจะต้องอยู่ภายใต้กฏการอนุรักษ์ และจะต้องมีหลักฐานทางโบราณคดีมาสนับสนุนการบูรณะ โดยทั่วไปแล้ววิธีนี้เป็นวิธีเดียวในการก่อสร้างขึ้นใหม่ ที่ได้มีการยอมรับไปใช้กับแหล่งมรดกโลก


พิกัดปราสาทสด๊กก๊อกธม : N13.84349 E102.73647

ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร


























วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เจดีย์วัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง)

13 ธันวาคม 2552

วันนี้ผมมาชวนเพื่อนๆไปเที่ยวชมเจดีย์หินทราย ณ วัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) ต.ศรีสมเด็จ อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ดครับ ด้วยเมื่อครั้งที่ท่านพระเทพวิสุทธิมงคล "หลวงปู่ศรี มหาวีโร" ได้ไปเยี่ยมมหาเจดีย์โบโรบูโด ศาสนสถานที่สร้างด้วยหินขนาดใหญ่ หลวงปู่ปรารภว่า “ถ้ามีโอกาสจะสร้างพระเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่อย่างเจดีย์โบโรบูโดนี้บ้าง” เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยหลวงปู่ได้นำเรื่องราวที่ได้ไปพบมา เล่าให้ศิษยานุศิษย์ฟัง และดำริว่าจะสร้างไว้ที่เมืองไทย

บรรดาศิษยานุศิษย์เมื่อได้ฟังเช่นนั้น ก็ได้ร่วมมือร่วมใจกับคณะสงฆ์วัดป่ากุงและวัดสาขา ตลอดจนผู้เลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงปู่ พร้อมใจกันสละกำลังกายและกำลังทรัพย์ ก่อสร้างเจดีย์ซึ่งจำลองแบบมาจากเจดีย์โบโรบูโด (บรมพุทโธ) ที่เกาะชวา อินโดนีเซีย โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ครบรอบ 90 ปี พรรษา 60 พระเทพวิสุทธิมงคล "หลวงปู่ศรี มหาวีโร" พระเกจิอาจารย์แห่งแดนอีสาน เจดีย์นี้ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2547 ทำงานกันทั้งกลางวันกลางคืน โดยสำเร็จลุล่วงและจัดให้มีพิธีสมโภชไปเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 40 ล้านบาท

เจดีย์เป็นรูปทรงแปดเหลี่ยม กว้าง 101 เมตร ยาว101 เมตร สูง109 เมตร แบ่งเป็น 7 ชั้น ตบแต่งด้วยหินทรายธรรมชาติ จากปากช่อง นครราชสีมา

ชั้นที่ 1 เป็นภาพแกะสลักหินทรายเหลืองนูนต่ำ เล่าเรื่องราวซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายที่ พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทานบารมี
ชั้นที่ 2-3 เป็นภาพแกะสลักหินทรายเหลืองนูนต่ำ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติพระพุทธเจ้า
ชั้นที่ 4 ภาพแกะสลักหินทรายเหลืองนูนต่ำรูปชัยมงคลคาถา
ชั้นที่ 5 ผนังทรงกลมฐานรององค์เจดีย์ เป็นภาพสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน
ชั้นที่ 6 เป็นองค์เจดีย์ราย 8 องค์ และองค์เจดีย์ประธาน 1 องค์ และโดยเฉพาะชั้นที่ 7 ยอดเจดีย์ทองคำ น้ำหนักถึง 101 บาท ทำการยกยอดเจดีย์เมื่อ พ.ศ.2547

มีพระรายล้อมเจดีย์ทั้งหมด 136 องค์ มาจากอินโดนีเซีย ภายในเจดีย์สามารถเข้าชมได้ แบ่งเป็น2ชั้น (ด้านใน) 
ชั้นแรก จะเป็นห้องโถงโล่ง ที่บอกเล่าประวัติหลวงปู่ศรี มหาวีโร 
ชั้นที่สองเป็นที่ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่ประเทศศรีลังกาส่งมาให้หลวงปู่โดยตรง

พิกัดเจดีย์หินทราย วัดประชาคมวนาราม : N15.99192 E103.49631

ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร