วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์


อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

ชื่อเมืองศรีเทพ ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2447 ในคราวที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์  สืบเนื่องจากทรงค้นพบชื่อนี้ในทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมือง และในสมุดดำซึ่งเป็นต้นร่างกะระยะทางให้คนไปแจ้งข่าวการสิ้นรัชการที่ 2 ตามหัวเมืองต่างๆ มีเส้นทางหนึ่งไปทางเมืองสระบุรี เมืองชัยบาดาล เมืองศรีเทพ และเมืองเพชรบูรณ์ จึงตั้งสมมุติฐานว่า เมืองศรีเทพคงอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก ในคราวนั้นทรงสืบค้นพบว่า ศรีเทพ เป็นชื่อเดิมของเมืองวิเชียรบุรี ซึ่งเพิ่งจะมาเปลี่ยนชื่อในสมัยรัชการที่ 3 ทรงสันนิษฐานว่าชื่อเมืองศรีเทพที่วิเชียรบุรี มีต้นเค้ามาจากเมืองโบราณที่อยู่ทางใต้ลงมาราว 30 กิโลเมตร ซึ่งทางสำรวจพบวัตถุโบราณโบราณสถานต่างๆมากมาย จึงทรงเรียกเมืองโบราณแห่งนี้ว่า เมืองศรีเทพ นับได้ว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียกชื่อเมืองนี้ว่า เมืองศรีเทพ เป็นประองค์แรกและได้ใช้ชื่อนี้มาจนปัจจุบัน

เมืองศรีเทพ มีคูน้ำคันดินเป็นกำแพงเมืองล้อมรอบ พื้นที่ 2,889 ไร่ เมืองในมีเนื้อที่ประมาณ 1,300 ไร่ ลักษณะเป็นรูปเกือบกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีช่องประตูเมือง 6 ช่องทาง พื้นที่ภายในเป็นที่ราบลอนลูกคลื่น มีโบราณสถานราว 40 แห่ง มีสระน้ำและหนองน้ำกระจายอยู่ทั่วไป เมืองนอกมีเนื้อที่ประมาณ 1,589 ไร่ ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่อออกไปทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน พื้นที่เป็นที่ราบมีช่องประตูเมือง 6 ช่องทาง มีสระน้ำอยู่ทั่วไปและมีโบราณสถานราว 54 แห่ง ส่วนนอกเมืองโบราณมีโบราณสถานอยู่ทั่วไปราว 50 แห่ง

โบราณสถานที่สำคัญ

เขาคลังใน : เป็นศาสนสถานประเภทวัดพุทธศาสนา มีกำแพงศิลาล้อมรอบ ชื่อโบราณสถานมีที่มาจากความเชื่อของคนในท้องถิ่นที่เชื่อว่าเป็นคลังเก็บสิ่งของมีค่า หรือคลังอาวุธในสมัยโบราณ

อาคารประธานเป็นอาคารในศิลปะแบบทวาราวดี เช่นเดียวกันกับโบราณสถานที่วัดโขลง เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทิศตะวันออก ส่วนที่เหลืออยู่ทั้งหมดคือส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน ภายในก่อทึบตัน ที่ส่วนล่างของฐานยังเหลือภาพปูนปั้นประดับลายก้านขด รูปสัตว์ และคนแคระแบก กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 14 ด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นสู่ชั้นบน ซึ่งยังเหลือปูนฉาบเป็นลานกว้าง มีร่องรอยว่าเดิมอาจมีสถูปประดิษฐานอยู่ทางทิศตะวันตก และวิหารขนาดเล็กอยู่ด้านหน้า แต่ปัจจุบันพังทลายไปเกือบจะไม่เหลือร่องรอย ภายในบริเวณวัดยังมีเจดีย์ราย วิหาร และอาคารขนาดเล็กหลายแห่ง

ปรางค์ศรีเทพ : เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ปราสาทประธานเป็นแบบศิลปะเขมร ส่วนบนก่อด้วยอิฐฐานเป็นศิลาแลงฉาบปูน ตั้งอยู่บนลานดินที่ก่อรอบด้วยศาลาแลงเป็นฐานสี่เหลี่ยมยกพื้นสูง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก สองข้างลานด้านหน้ามีบรรณาลัย 2 หลัง เป็นที่เก็บคัมภีร์ทางศาสนา ปัจจุบันเหลือเพียงฐาน มีทางเดินรูปกากบาทเรียกว่าสะพานนาค เชื่อมต่อระหว่างโคปุระหรือประตูทางเข้าด้านหน้า กับพื้นที่ส่วนล่างซึ่งมีทางเดินศิลาแลง และฐานอาคารประกอบพิธีกรรมอีกหลายแห่ง

จากการขุดค้นโบราณสถาน พบทวารบาลหินทรายสมัยบายน และชิ้นส่วนทับหลัง กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนกลีบขนุนที่ยังสลักไม่เสร็จ จึงสันนิษฐานว่าโบราณสถานแห่งนี้คงสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดูในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 และได้รับการซ่อมแซมแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนามหายานตามความนิยมในช่วงสมัยบายนของเขมรในต้นพุทธศตวรรษที่ 18 แต่ยังไม่แล้วเสร็จ

ปรางค์สองพี่น้อง : เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ปราสาทประธานเป็นแบบศิลปะเขมร ก่อด้วยอิฐ ฐานเป็นศิลาแลง ฉาบปูนทั้งองค์ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีปราสาทหลังเล็กที่สร้างเพิ่มขึ้นภายหลังตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน จึงเป็นที่มาของชื่อโบราณสถาน บริเวณหน้าปราสาทมีทางเดินและอาการประกอบพิธีกรรมต่างๆก่อด้วยศิลาแลงหลายหลัง ด้านหน้าสุดมีทางเดินรูปกากบาท และจากการขุดค้นโบราณสถานได้พบประติมากรรมรูปสุริยเทพ หรือพระอาทิตย์ ที่บริเวณทางเดินด้านนี้

การขุดค้นโบราณสถานพบทับหลังจำหลักรูป “อุมามเหศวร” ซึ่งปัจจุบันติดตั้งอยู่ที่ปราสาทหลังเล็ก มีลักษณะศิลปะแบบบาปวนนครวัด ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17 และรูปเคารพได้แก้ โคนนทิ ฐานโยนี และศิวลึงค์ ถูกฝังไว้ในระดับใต้ฐานอาคาร จึงสันนิษฐานว่าแต่เดิมโบราณสถานแห่งนี้คงจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 ต่อมาอาจเปลี่ยนแปลงเป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธมหายาน เช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพ ในราวพุทธศตวรรษที่ 18 จึงได้มีการฝังรูปเคารพในศาสนาเดิมไว้ใต้ฐานอาคาร

อุทยานประวิติศาสตร์ศรีเทพ อยู่ในความดูแลของ สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม , มีวิทยากรนำชมอุทยานฯ บริการนำชมโบราณสถานรอบเมืองในด้วยรถไฟฟ้า

ที่ตั้ง : อยู่ในอำเภอศรีเทพ ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ประมาณ 107 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอวิเชียรบุรีประมาณ 25 กิโลเมตร นับจากสี่แยกทางหลวงหมายเลข 21 ตัดกับทางหลวงหมายเลข 2211 (ก็คือสี่แยกวิเชียรบุรี ที่มีร้านไก่ย่างเยอะๆนั่นแหละครับ) มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกอีก 7 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานประวิติศาสตร์ศรีเทพ

พิกัด :  ทางเข้าด้านศูนย์ข้อมูลฯ อุทยานประวิติศาสตร์ศรีเทพ (เมืองใน) N15.47403 E101.14639

ค่าธรรมเนียม : ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท, เปิดบริการทุกวันระหว่าง 08.00 – 16.30 น.

ข้อมูล : จากแผ่นพับของ อุทยานประวิติศาสตร์ศรีเทพ สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี

ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร ออนไลน์

ปรางค์ศรีเทพ
เขาคลังใน

ปรางค์สองพี่น้อง