วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

พระพุทธมหาธรรมราชา จังหวัดเพชรบูรณ์



เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 จังหวัดเพชรบูรณ์  ร่วมกับประชาชนทุกหมู่เหล่า  ได้จัดสร้าง "พระพุทธมหาธรรมราชาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช"  เป็นพระพุทธรูปเนื้อโลหะหล่อด้วยทองเหลืองบริสุทธิ์  ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเพชรบูรณ์  เพื่อเป็นองค์ประธาน  ประดิษฐาน ณ พุทธอุทยานเพชบุระ (ตรงข้ามสถาบันการพลศึกษา) ถนนสายสระบุรี-หล่มสัก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ยอดพระเกตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขนาดหน้าตัก 11.984 เมตร  มีความหมายว่า

          1  หมายถึง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์เอกหนึ่งในดวงใจของชนชาวไทย
          1  หมายถึง  พระพุทธมหาธรรมราชา  ซึ่งมีเพียงองค์เดียวในโลก  เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเพชรบูรณ์  เป็นองค์พระที่อัญเชิญมาประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ของเมืองเพชรบูรณ์
          9  หมายถึง  รัชกาลที่ 9  แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
          84 หมายถึง  วโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเจริญพระชนมายุ 84 พรรษา

องค์พระฯ หน้าตัก 11.984 เมตร  สูง 16.5899  เมตร  สูงจากพื้นดิน 35 เมตร  หนักกว่า 45 ตัน  โดยเงินทุนในการก่อสร้างมาจากแรงศรัทธาของประชาชนต่อองค์พระพุทธมหาธรรมราชาเฉลิมพระเกียรติฯ  (ไม่รวมอาคารฐานและภูมิทัศน์) ได้ด้วยเงินบริจาคของประชาชนทั้งสิ้นเป็นเงินกว่า 27 ล้านบาท โดยไม่ใช้งบประมาณจากทางราชการ  


และที่สุดแห่งมหามงคลคือ ในวันที่ 26 กันยายน 2554  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ปลายยอดจุลมงกุฎและเบิกพระเนตรองค์พระพุทธมหาธรรมราชาเฉลิมพระเกียรติฯ ณ พุทธอุทยานเพชบุระ จังหวัดเพชรบูรณ์

"พระพุทธมหาธรรมราชา" เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวเพชรบูรณ์เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยลพบุรี  หล่อด้วยเนื้อทองสำริด  หน้าตักกว้าง 13 นิ้ว สูง 18 นิ้วไม่มีฐาน  มีพุทธลักษณะพระพักตร์กว้าง พระโอษฐ์แบะ  พระกรรณยาวย้อย  ที่พระเศียรทรงเทริด  หรือมีกระบังหน้าทรงสร้อยพระศอพาหุรัดและรัดประคต  เป็นลวดลายสร้างขึ้นเมื่อไรไม่ปรากฏชัดเจน  แต่จากพุทธลักษณะที่ปรากฏมีความสอดคล้องพระพุทธรูปทรงเครื่องศิลปะขอมที่พบในประเทศระยะแรก(ราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 17  ซึ่งมีรูปแบบทางศิลปกรรมโดยรวมคือ  ประทับนั่งขัดสมาธิราบพระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม  พระเนตรมักจะเบิกอยู่เสมอท่อนบนของพระวรกายอาจจะเปลือยเปล่าหรือบางครั้งครองจีวรห่มคลุม  แต่ท่อนล่างจะใส่สบง  สำหรับสบงนั้นทำเป็นขอบนูนขึ้นมาที่บั้นพระองค์  ซึ่งบางครั้งก็ทำเป็นรัดประคตคาดอยู่  เครื่องทรงประกอบด้วยกระบังหน้าเป็นลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน  รัดเกล้าเป็นรูปกรวยอยู่เหนือพระเศียร ทรงกรองศอแผงมี อุบะห้อย  ทรงกุณฑลเป็นตุ้ม  ส่วนพาหุรัดทรงกรและทองพระบาทอาจมีหรือไม่มีก็ได้  สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัย "พระเจ้าชัยวรมันที่ 7" กษัตริย์แห่งอาณาจักรขอม  



ขอบคุณที่ติดตามชมและสวัสดี
นายทัศนาจร ออนไลน์

ขอบคุณข้อมูลจาก อบจ.จังหวัดเพชรบูรณ์