วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

เชียงตุง รัฐฉาน เมียนม่าร์

เชียงตุง รัฐฉาน แห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

เชียงตุง เป็นเมืองตั้งอยู่ในรัฐฉานของประเทศเมียนมาร์ อยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน เป็นเมืองของชาวไทเขิน และชาวไทใหญ่ ถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองเทียบเท่าเมืองเชียงใหม่แห่งล้านนาไทยและเมืองเชียงรุ่งแห่งสิบสองปันนา โดยชาวไทใหญ่เรียกชื่อเมืองนี้ว่า "เก็งตุ๋ง" ในอดีตเชียงตุงเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางการค้าเชื่อมต่อระหว่างสิบสองปันนากับล้านนา โดยมีพ่อค้าชาวจีนฮ่อเดินทางไปมาค้าขายในเส้นทางนี้

เมื่อจุลศักราช 791 (พ.ศ. 1772) พญามังรายได้ยกกองทัพมายึดเมืองเชียงตุงไว้ในอาณาเขต และส่ง เจ้าน้ำท่วม ผู้เป็นราชบุตรไปปกครองเมืองเชียงตุงเมื่อ พ.ศ. 1786 เชียงตุงจึงเป็นเมือง "ลูกช้างหางเมือง" หรือ "เมืองลูกหลวง" ขึ้นกับอาณาจักรล้านนาและได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาจากล้านนา ก่อนจะกลายเป็นเมืองประเทศราชของพม่าในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง และเป็นอาณานิคมของอังกฤษไปพร้อมกับพม่า มีเจ้าฟ้าอินแถลง เป็นเจ้าครองนครเชียงตุงองค์สุดท้าย

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้ส่งกำลังทหารเข้าบุกยึดเมืองเชียงตุง เมืองพาน เมืองตองยี และสิบสองปันนา มาจากอังกฤษ โดยความช่วยเหลือจากญี่ปุ่น และญี่ปุ่นช่วยให้เมืองเชียงตุงและเมืองพานมารวมเข้ากับประเทศไทย จัดตั้งเป็นสหรัฐไทยเดิม แต่ก็ปกครองอยู่ได้เพียงแค่ 3 ปี ก็ต้องคืนกลับให้แก่อังกฤษ เพราะว่าญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม ปัจจุบันเชียงตุงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่า ซึ่งปัจจุบันคือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

(ข้อมูลโดยละเอียดชมได้ที่ : http://th.wikipedia.org/wiki/เชียงตุง)

ทริปนี้ผมไม่ได้ขับรถไปเอง เพราะติดปัญหาใหญ่ที่เมียนม่าร์ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวขับรถข้ามชายแดนเข้าไปเอง (ทีจริงได้แต่ต้องเป็น VIP และต้องประสานงานกันยกใหญ่ ซึ่งเราไม่ได้อยู่ในคนกลุ่มนั้น) มติของคณะทัวร์ลงพุงจึงตกลงกันว่าจะให้บริษัททัวร์จัดการเรื่องทริปทั้งหมด โดยให้จัดรถตู้ 9 ที่นั่ง 2 คันเป็นพาหนะพาเราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปส่งเราที่แม่สาย แล้วเดินเท้าข้ามแดนที่ด่านแม่สายไปท่าขี้เหล็ก จากนั้นจึงเดินทางต่อไปด้วยแท็กซี่ท้องถิ่นอีก 5 คันไปยังเมืองเชียงตุง และพาไปเที่ยวตลอดทริป

เราเริ่มออกเดินทางในตอนเย็นของวันที่ 11 เมษายน 2556 และจะกลับถึงกรุงเทพฯในตอนเช้าวันที่ 16 เมษายน 2556 ไฮไลท์ของทริปนี้คือ "วัดบ้านแสน" ครับ

แผนการเดินทางของทริปนี้ เริ่มจากท่าขี้เหล็ก เมืองพยาก เมืองเชียงตุง วัดบ้านแสน

ระยะทางจากเมืองท่าขี้เหล็กถึงเชียงตุงประมาณ 157 กิโลเมตร เป็นถนนราดยางตลอดสาย สภาพเสียหายบ้างเล็กน้อยถึงปานกลางขึ้นอยู่กับระยะทางที่ห่างจากเมืองเชียงตุงออกไป การเดินทางจะเริ่มจากเมืองท่าขี้เหล็ก มุ่งหน้าขึ้นเหนือไปประมาณ 83 กิโลเมตร ถึงเมืองแพรกหรือเมืองพยาก เราจะแวะพักกินข้าวกลางวันกันที่เมืองนี้ แล้วออกเดินทางต่อไปอีก 77 กิโลเมตรจนถึงเมืองเชียงตุง อันเป็นพักของเราทั้งทริป ส่วนวัดบ้านแสน ต้องเดินทางขึ้นเหนือไปทางเมืองลาอีกประมาณ 58 กิโลเมตร เป็นจุดครึ่งทางไปเมืองลาพอดี เป็นถนนลาดยางบ้างไม่ราดยางบ้าง สภาพเสียหายปานกลางถึงมากกกกกกก จุดกลางทางนี้เราต้องเลี้ยวซ้ายเข้าถนนรองขึ้นเขาไปวัดบ้านแสน ทางช่วงนี้จะเป็นทางดินลูกรังทั้งหมด ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร แต่เป็น 7 กิโลเมตรที่นานแสนนานและยากเย็นเสียจริง  ^_^

อาหารเช้าที่แม่สาย

เราเดินทางด้วยรถตู้ประมาณ 14 ชั่วโมงรวดก็ถึงแม่สาย แวะล้างหน้าแปรงฟันกันที่ปั๊มและจัดการมื้อเช้ากันก่อนข้ามชายแดน (หลังจากจบทริปแล้ว แม่บ้านบอกว่าไม่เอาไม่นั่งรถตู้ไปต่างจังหวัดอีกแล้ว อิอิ...)

เดินฝั่งซ้าย

เอกสารเรียบร้อยแล้วข้ามชายแดนกันดีกว่า เอกสารก็ไม่มีอะไรมาก ใช้แค่บัตรประชาชนนำไปทำใบผ่านแดนชั่วคราว ไม่ต้องใช้หนังสือเดินทาง ช่วงแรกอยู่ในเขตประเทศไทยก็เดินชิดซ้ายครับ

เดินฝั่งขวา
เดินเลยกึ่งกลางสะพานไปแล้วก็ต้องเปลี่ยนมาเดินชิดขวา เพราะทิศทางการจราจรของเขาตรงข้ามกับบ้านเราครับ (ขับชิดขวา รถพวงมาลัยอยู่ซ้าย)

แท็กซี่ท้องถิ่นที่จะไปส่งเราที่เชียงตุง

โฉมหน้าแท็กซี่ท้องถิ่น สังเกตุว่าเป็นสีขาวหมดทุกคัน ผมถามว่าทำไมมีแต่สีขาว คนขับบอกว่าเวลาซ่อมสี สีขาวจะเสียค่าซ่อมน้อยที่สุด เพราะไม่ต้องผสมแม่สีอื่นอีก ^_^



ผู้โดยสารให้นั่งหลัง 3 คน หน้า 1 คน แต่ครอบครัวผมคงนั่งหลัง 3 คนไม่ไหว


สภาพถนนช่วงออกจากท่าขี้เหล็ก ยังเรียบกริบอยู่ ปล่อยให้ตายใจไปก่อน


ถึงเมืองพยาก แค่ครึ่งทางไปเชียงตุง แวะพักกินข้าวกลางวันกันก่อนครับ


คนถิ่นนี้เขานิยมเอาน้ำฉีดล้อ ฉีดหม้อน้ำ ฉีดเครื่องกัน ไม่เว้นแม้กระทั่งรถจักรยานยนต์ จะเห็นได้ว่าจุดพักรถไม่ว่าเล็กใหญ่จะมีบ่อน้ำไว้คอยบริการ เขาว่าเพื่อระบายความร้อนครับ



อาหารที่เมืองพยากเป็นอาหารไทยใหญ่ ที่รสชาดถูกปากอร่อยดีทีเดียวครับ



ช่วงที่ไปเป็นเดือนเมษายน ท้องทุ่งนาสีเขียวๆก็จะมีให้เห็นน้อยหน่อยครับ นาขั้นบันไดหาชมยาก


จะมีด่านเก็บค่าใช้ทางอยู่เป็นระยะ


ถึงที่พักแล้วครับ โรงแรมสามยอด ตึกใหม่เอี่ยมเลยครับ


ห้องพักดี มีทุกอย่างครบ แอร์ ทีวี พัดลม ยกเว้น "ไฟฟ้า" ครับพี่น้อง มีเสาไฟฟ้า มีสายไฟฟ้า แต่ไม่มีไฟฟ้าส่งมาจากต้นทางครับ โรงแรมจึงต้องปั่นไฟใช้เอง และการปั่นไฟก็ใช้ได้เฉพาะแสงสว่างและพัดลมที่พัดเอื่อยๆ แอร์จึงใช้การไม่ได้ นอนมองได้อย่างเดียว ...


ไปชมเมืองกันดีกว่า "ไม้หมายเหมือง" เป็นต้นยางขนาด 10 คนโอบ อายุประมาณ 300 ปี ดูเด่นเป็นสง่า



วัดหลวง "วัดมหาเมี๊ยะมุนี" ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเชียงตุง สักการะ "พระมหาเมี๊ยะมุนี" หรือ "พระมหามัยมุนี (Mahamuni Buddha) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์


โดยทั่วไปแล้วหากผู้เยี่ยมชมประสงค์จะปิดทองที่องค์พระ จะต้องฝากทองให้เจ้าหน้าที่ที่ดูแลเป็นคนนำขึ้นไปปิดให้แทน แต่ยังไงก็ไม่ทราบพวกเรามีโอกาสดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปปิดทองที่องค์พระได้เองเลย พระมหาเมี๊ยะมุนีที่เมืองเชียงตุงนี้เป็นองค์จำลองนะครับ ส่วนองค์จริงประดิษฐานอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์



 ขบวนรถของเรา ตั้งแถวจอดรอที่หน้าวัดหัวข่วง (ตรงข้ามกับวัดมหาเมี๊ยะมุณี)


วัดหัวข่วงตั้งอยู่ใจกลางวงเวียนเมืองเชีย­งตุง มีพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนหลายสิบองค์

  

สวยงามมาก น่าจะทำมาจากหินอ่อนนะครับ 


ฝีมือการแกะแผ่นโลหะ ประดับเชิงชายรอบวัด


วัดจองคำ หรือ วัดจอมตอง หรือ วัดจอมทอง แห่งเมืองเชียงตุง


 โฉมหน้าคณะทัวร์ลงพุง





พระประธาน   


พักชมวัดในเมืองไว้ก่อน ตอนนี้เดินทางไปวัดบ้านแสน อันเป็นเรื่องราวและเป็นที่มาของทริปนี้
 

จากที่เล่าไว้แล้วตอนต้นว่าต้องใช้เส้นทางทางไปเมืองลาประมาณ 58 กิโลเมตร จะถึงปากทางเข้าวัดบ้านแสน และจากปากทางเข้าไปตามถนนดินอีก 7 กิโลเมตรก็จะถึงวัดบ้านแล้วครับ แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าคุณไปตอนนี้ 7 กิโลเมตรสุดท้ายนี้ จะทำให้คุณประทบใจไปนานเท่านาน เพราะเป็น 7 กิโลเมตรสุดท้ายที่มีแต่ฝุ่นล้วนๆ ฝุ่นละเอียดขนาดเอาไปทำเป็นแป้งเด็กโรยตัวได้เลยละครับ


ก่อนจะไปถึงวัดแสนคำ ประมาณ 3 กิโลเมตร จะผ่านวัดบ้านแยกก่อนครับ วัดนี้มีศิลปะแนวเดียวกันกับวัดบ้านแสน แต่อายุน้อยกว่า ซึ่งก็ได้เวลาที่เราจะแวะพักกินอาหารกลางวันกันละครับ


อาหารแบบปิกนิคเป็นอาหารพื้นๆ แต่อร่อยมากเลยครับ กินกันไม่เหลือให้เก็บกลับกันเลยทีเดียว



 วัดบ้านแยก


หน้าบรรณ


 ประตูวิหาร



พระประธาน


พระแก้วมรกตองค์เล็ก

  

อำลาวัดบ้านแยกไว้แค่นี้ก่อน จุดหมายปลายทางของวันนี้คือ "วัดบ้านแสน"


  และแล้วก็มีรถของชาวคณะรอดขึ้นไปได้แค่ "คันเดียว" ที่เหลือก็


เดินสิครับ บนถนนที่ฝุ่นหนาเกือบคืบ


แต่สิ่งที่รอเราอยู่ที่ปลายถนนสุดทาง ช่างงดงามเหลือเชื่อ












 



หลังจากชมวัดบ้านแสนแล้ว ยังมีอีกสิ่งที่น่าสนใจตั้งอยู่หลังวัดบ้านแสน ใช้เวลาเดินเท้าไปไม่ถึง 15 นาที นั่นก็คือชุมชนบ้านแสน ชาวไทดอย (ลั๊วะ) นั่นเอง


ชุมชนบ้านแสนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ เรียกตนเองว่า "ไทดอย" ออกเสียงว่า "ไตหลอย" หรือ "ตำมิละ" หรือ "หลอยตำมิละ"


ที่พิเศษคือ แต่ละครอบครัวจะอาศัยอยู่ในเรือนยาว (Long House) ซึ่งแต่ละหลังจะมีผู้อยู่อาศัยหลายสิบคนขึ้นไป เท่าที่ผมเห็นก็มีประมาณสิบครอบครัวขึ้นไปอาศัยอยู่ใต้หลังคาเดียวกัน


การจัดบริเวณเขาจะกั้นห้องนอนไว้ตลอดแนวริมด้านข้างของบ้านทั้งสองฝั่ง หน้าห้องแต่ละห้องยาวตลอดแนว ก็จะทำเป็นที่หุงหาอาหาร และใช้พื้นที่สันทนาการด้วย แต่จะเว้นทางเดินไว้ตรงกลางบ้านตลอดแนว การที่จะดูว่ามีกี่ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในแต่ละบ้าน ก็ให้สังเกตุสามเส้าครับ 1 สามเส้า เท่ากับ 1 ครอบครัว



ไปเจอครอบครัวสามคนพ่อแม่ลูกนี้แต่ดูจากการแต่งตัวแล้วคงไม่ใช่ สามเส้าข้างหน้าคงไม่ใช่ของครอบครัวนี้ครับ ^_^



ขากลับเข้าเชียงตุงก็มีอันต้องซ่อมบำรุงกันกลางทางกันครับ ก็เนื่องมาจากการขับรถขึ้นไปวันบ้านแสนในช่วงเช้า ทำให้แท็กซี่คันที่ผมนั่งต้องหม้อน้ำรั่ว ความร้อนขึ้น



ยกหม้อน้ำออกมาซ่อมกันริมถนนนั่นแหละครับ แต่เขาก็ทำกันได้ครับ แท็กซี่ทุกคันช่วยเหลือกันดีมากๆเลย ซ่อมเสร็จไม่มีน้ำเติมก็ขอเอาจากรถบรรทุกที่ขับผ่านไปมา ก็ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีครับ


รุ่งขึ้นวันใหม่เราไปชมหมู่บ้านชาวไทยเขิน ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเชียงตุง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่สร้างบ้านด้วยดินทั้งหลังครับ น่าชมมาก



กำแพงบ้าน



รูปแบบของบ้านจะคล้ายคลึกกัน



สามคนนี่น่าจะไม่ใช่คนแถวนี้ ^_^ 


เราต่อไปชมพระธาตุจอมดอย ผ่านทุ่งข้าวเขียวขจีข้างทาง



จอดรถให้เด็กๆลงไปดูว่า ต้นข้าวมันเป็นเยี่ยงนี้นะหนู



ขึ้นเขาไปเล็กน้อย ไปชมพระธาตุจอมดอย



พระธาตุสวยงาม



แปลกตา



แล้วปลายทางของถนนสายนี้ก็ไปหยุดอยู่ที่หมู่บ้านแอ่น บ้านกลางป่าดอยของเมืองเชียงตุง



ปลูกบ้านตามเชิงลาดเขา ลดหลันน่าชม แต่ผมไม่ได้ขึ้นไปข้างบน ผมรอข้างล่าง ^_^



มีสินค้า OTOP ด้วย ก็กระจายรายได้กันไปเล็กน้อย ตามแต่จะศรัทธา



วันนี้จบลงด้วยมื้อเย็น แบบนี้ครับ ไม่ค่อยถูกปากสักเท่าไหร่



รุ่งขึ้นเราก็ไปชมวัดยางโกง หรือ วัดยางกวง ที่วัดนี้มีความพิเศษคือมี "พระเกล็ดนาค" ครับ


ที่จริงคือพระพุทธรูปที่ประดับด้วยกระจกสี ในเชียงตุงมีเพียง 2 องค์เท่านั้น 



ดูกันใกล้ๆ



ไปต่อกันที่วัดเชียงยืน อายุเก่ากว่า 700 ปีแล้วครับ



ตกแต่งแนวสีออกโทนแดง



ดูสงบดีครับ



ปิดท้ายด้วยพระยืนชี้นิ้ว



และหนองตุง


กับของที่ระลึก เครื่องเขินเมืองเชียงตุง


เช้าวันสุดท้ายในเชียงตุง หลังจากจัดการอาหารเช้าเสร็จ คณะเราก็เดินทางกลับกันด้วยแท็กซี่คู่ใจที่พาเที่ยวกันมา 3 วัน จากเชียงตุงกลับไปท่าขี้เหล็ก แวะถามหาหมวกที่ลืมเอาไว้ตั้งแต่ขาไปที่ร้านอาหารเมืองพยากก็ยังได้คืนด้วยนะ เรากลับเข้าเมืองท่าขึ้เหล็กในวันที่คนทั้งเมืองยังฉลองสงกรานต์อย่างสนุกสนาน ทำให้รถติดสนั่นลั่นเมือง เราใช้ความเร็วเท่ากับหอยทากเป็นตะคริว และต้องปิดกระจกกันโดนสาดน้ำไปตลอดทาง ท่ามกลางแสงแดดที่ร้อนระอุ ที่สำคัญแท็กซี่ไม่มีแอร์ครับ เฮ้อ...จะเป็นลม

เราใช้เวลาเดินทางจากเชียงตุงถึงท่าขี้เหล็กรวมแล้ว 5.30 ชั่วโมง ผ่านพิธีการข้ามแดนแล้วเราต่อด้วยรถตู้ที่มานอนคอยรับเราหลายวันแล้วที่หน้าด่านแม่สาย แวะกินข้าวเย็นเสร็จแล้วก็จมดิ่งไปกับการนั่งรถตู้อีก 14 ชั่วโมง ก็ถึงกรุงเทพครับ


จึงเป็นที่มาของคำว่า "คราวหน้าฉันไม่ นั่งรถอย่างนี้อีกแล้วนะ" 5555

พิกัด GPS

ชุมชนบ้านแสน.ชาวไทดอย - N21.54600 E99.73678
ต้นยาง.หมายเมือง - N21.28110 E99.60521
บ้านดิน - N21.30884 E99.63294
พระธาตุจอมดอย - N21.32722 E99.70743
พระยืนชี้นิ้ว -N21.28777 E99.59711
หมู่บ้านแอ่น -N21.32653 E99.71744
เมืองเชียงตุง - N21.28906 E99.60306
เมืองพยาก - N20.86925 E99.90529
สามยอด.โรงแรม -N21.28673 E99.60549
สามยอด.เกสเฮ้าส์ - N21.29735 E99.61360
วัดเชียงยืน - N21.29278 E99.60201
วัดบ้านแสน - N21.54701 E99.73820
วัดพระธาตุจองคำ -N21.29388 E99.60230
วัดมหาเมี๊ยะมุนี (พระเจ้าหลวง) - N21.29136 E99.60281
วัดยางกวง - N21.30328 E99.60709
วัดเชียงอิน - N21.29486 E99.60574
วัดบ้านแยก - N21.53321 E99.75886


ขอบคุณที่ติดตามชมและสวัสดีครับ
นายทัศนาจร ออนไลน์