วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

โบราณสถานเมืองเพนียด

14 เมษายน 2554


บันทึกการเดินทางหน้านี้ผมชวนไปเที่ยวชมของโบราณที่ชื่อว่า "โบราณสถานเมืองเพนียด"  เป็นเมืองโบราณมีชื่อปรากฏในพงศาวดารมาแต่แรกสร้างกรุงศรีอยุธยา จากการสำรวจพบซากเมืองเก่าเมืองจันทบุรีอยู่ 2 แห่ง แห่งแรกตั้งอยู่ในตำบลตลาดจันทบุรีตะวันออก ซึ่งยังมีคูเมืองและเชิงเทินพอสังเกตได้ ส่วนอีกแห่งตั้งอยู่ในตำบลคลองนารายณ์ ชาวบ้านเรียกว่า "เมืองเพนียด" หรือ เมืองกาไวมีผู้ขุดพบศิลาจารึกที่วัดเพนียด ซึ่งเป็นวัดโบราณอยู่ทางทิศใต้ของกำแพงเมือง 400 เมตร


โบราณสถานเมืองเพนียด ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ห่างจากวัดทองทั่วประมาณ 300 เมตร โดยกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 ระบุไว้ว่ามีสิ่งสำคัญคือ กำแพงก่อด้วยศิลาแลง ด้านกว้าง 16 เมตร ด้านยาว 26 เมตร สูง 3 เมตร


สถานที่แห่งนี้สันนิษฐานว่าเดิมเป็นที่ตั้งเมืองจันทบุรียุคแรก มีอายุไม่น้อยกว่า 1,000 ปี การสำรวจสภาพของโบราณสถานเมืองเพนียด เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2499 ได้ความว่า เพนียดเป็นกำแพงก่อสร้างด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในกำแพงเป็นดินกว้างด้านละ 17 เมตร ยาวด้านละ 57 เมตร หนา 3 เมตรเท่ากันทุกด้าน แต่กำแพงด้านตะวันออกถูกทำลายไปหมดแล้วเหลือแต่ดินสูงเป็นเค้าอยู่  อีก 3 ด้านก็ถูกทำลายไปมาก เหลือสูงเพียง 1 เมตร ถึง 3 เมตร ด้านนอกของกำแพงพอกด้วยดินหนาประมาณ 3 เมตร ถึง 8 เมตร โบราณสถานเมืองเพนียดมี 2 แห่ง อีกแห่งหนึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 30 เมตร แต่หลังนี้ถูกทำลายโดยการรื้อขนเอาศิลาแลงไปจนหมดสิ้นแล้ว เหลือให้เห็นมูลดินสูงเป็นแนวอยู่ซึ่งหากไม่ได้รับการบอกเล่าจากชาวบ้านแถบนั้นก็ไม่ทราบว่า คือ เพนียดโบราณ



บริเวณเมืองเพนียดมีเค้าถนนโบราณหลายสาย มีซากสิ่งก่อสร้างปรักหักพังอยู่ทั่วไป เช่น อิฐโบราณ ศิลาแลง เศษถ้วยชามโบราณ เป็นต้น โบราณวัตถุที่ขุดพบเป็นหินทรายแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ มีเหลืออยู่ที่วัดทองทั่วก็หลายชิ้น บางชิ้นถูกนำไปไว้ที่อื่น เช่น ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกรุงเทพมหานคร


โบราณสถานเมืองเพนียด ตั้งอยู่ไม่ไกลกับวัดทองทั่ว ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีพระพุทธสุวรรณมงคล ศากยมุนีศรีสรรเพ็ชญ์ (หลวงพ่อทอง) ประดิษฐานอยู่ หลวงพ่อทองเป็นพระพุทธรูปที่มีอายุเก่าแก่คู่มากับพระอุโบสถเดิม ตามหลักฐานวัดทองทั่วได้ตั้งวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2310 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2318 แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าหลวงพ่อทองสร้างขึ้นในช่วง พ.ศ.ใด แต่คงต้องอยู่ในระหว่าง 8 ปีนี้ เพราะจะต้องสร้างพระอุโบสถเรียบร้อยแล้วจึงจะขอพระราชทานวิสุงคามสีมาได้


ภายในวัดทองทั่วมีการจัดแสดงวัตถุโบราณ และมีทับหลังอยู่ชิ้นหนึ่งเป็นที่น่าสนใจมาก คือ ทับหลังแบบถาราบริวัต (ถาลาบริวัต) ซึ่งมีอายุอยู่ในราว พ.ศ.1150 นางมิเรย เบนิสตี (Mireille Benisti) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศษล่าวถึงทับหลังแบบถาลาบริวัต (Thala Borivat) ว่าเป็นทับหลังที่เก่าแก่ที่สุดของศิลปขอมในราวกลาง พุทธศตวรรษที่ 12 ซึ่งค้นพบทับหลังศิลา 6 ชิ้น ที่ถาลาบริวัต บริเวณฝั่งขวาของแม่โขง และพบที่ปราสาทขตป (Khtop) 2 ชิ้น  นางเบนิสตี เห็นว่าทับหลังซึ่งค้นพบที่ถาลาบริวัตเก่ากว่าที่สมโบร์ไพรกุก และถาลาบริวัตอาจเป็นสถานที่ตั้งของเมืองภวปุระของพระเจ้าภรวรมัน  สำหรับทับหลัง 2 ชิ้น ซึ่งค้นพบที่ปราสาทขตปนั้น นางเบนิสตีเห็นว่าคงสลักขึ้นในปลายศิลปแบบสมโบร์ไพรกุก ราว พ.ศ. 1200  


ในประเทศไทยได้ค้นพบทับหลังแบบถาลาบริวัต 4 ชิ้นที่วัดทองทั่ว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งนับว่าเป็นทับหลังขอมแบบถาลาบริวัตอย่างแท้จริง นอกจากนั้น ยังได้ค้นพบศิลาจารึกขอมในพุทธศตวรรษที่ 12 หลักหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงการสร้างศาสนสถานของพระเจ้าอีศานวรมันที่ 1 พร้อมกันนี้ยังมีทับหลังอีกชิ้นหนึ่งซึ่งรักษาอยู่หน้าอุโบสถวัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี อาจกล่าวได้ว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างศิลปขอมแบบ ถาลาบริวัตและสมโบร์ไพรกุก และอาจสลักขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 1150.




พิกัดทางเข้าโบราณสถานเมืองเพนียด - N12.58595 E102.14281
พิกัดโบราณสถานเมืองเพนียด - N12.58586 E102.14422
พิกัดวัดทองทั่ว - N12.58763 E102.14260

ขอขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร ออนไลน์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น