วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์


อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ

ชื่อเมืองศรีเทพ ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2447 ในคราวที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์  สืบเนื่องจากทรงค้นพบชื่อนี้ในทำเนียบเก่าบอกรายชื่อหัวเมือง และในสมุดดำซึ่งเป็นต้นร่างกะระยะทางให้คนไปแจ้งข่าวการสิ้นรัชการที่ 2 ตามหัวเมืองต่างๆ มีเส้นทางหนึ่งไปทางเมืองสระบุรี เมืองชัยบาดาล เมืองศรีเทพ และเมืองเพชรบูรณ์ จึงตั้งสมมุติฐานว่า เมืองศรีเทพคงอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก ในคราวนั้นทรงสืบค้นพบว่า ศรีเทพ เป็นชื่อเดิมของเมืองวิเชียรบุรี ซึ่งเพิ่งจะมาเปลี่ยนชื่อในสมัยรัชการที่ 3 ทรงสันนิษฐานว่าชื่อเมืองศรีเทพที่วิเชียรบุรี มีต้นเค้ามาจากเมืองโบราณที่อยู่ทางใต้ลงมาราว 30 กิโลเมตร ซึ่งทางสำรวจพบวัตถุโบราณโบราณสถานต่างๆมากมาย จึงทรงเรียกเมืองโบราณแห่งนี้ว่า เมืองศรีเทพ นับได้ว่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียกชื่อเมืองนี้ว่า เมืองศรีเทพ เป็นประองค์แรกและได้ใช้ชื่อนี้มาจนปัจจุบัน

เมืองศรีเทพ มีคูน้ำคันดินเป็นกำแพงเมืองล้อมรอบ พื้นที่ 2,889 ไร่ เมืองในมีเนื้อที่ประมาณ 1,300 ไร่ ลักษณะเป็นรูปเกือบกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีช่องประตูเมือง 6 ช่องทาง พื้นที่ภายในเป็นที่ราบลอนลูกคลื่น มีโบราณสถานราว 40 แห่ง มีสระน้ำและหนองน้ำกระจายอยู่ทั่วไป เมืองนอกมีเนื้อที่ประมาณ 1,589 ไร่ ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่อออกไปทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน พื้นที่เป็นที่ราบมีช่องประตูเมือง 6 ช่องทาง มีสระน้ำอยู่ทั่วไปและมีโบราณสถานราว 54 แห่ง ส่วนนอกเมืองโบราณมีโบราณสถานอยู่ทั่วไปราว 50 แห่ง

โบราณสถานที่สำคัญ

เขาคลังใน : เป็นศาสนสถานประเภทวัดพุทธศาสนา มีกำแพงศิลาล้อมรอบ ชื่อโบราณสถานมีที่มาจากความเชื่อของคนในท้องถิ่นที่เชื่อว่าเป็นคลังเก็บสิ่งของมีค่า หรือคลังอาวุธในสมัยโบราณ

อาคารประธานเป็นอาคารในศิลปะแบบทวาราวดี เช่นเดียวกันกับโบราณสถานที่วัดโขลง เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทิศตะวันออก ส่วนที่เหลืออยู่ทั้งหมดคือส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน ภายในก่อทึบตัน ที่ส่วนล่างของฐานยังเหลือภาพปูนปั้นประดับลายก้านขด รูปสัตว์ และคนแคระแบก กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 14 ด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นสู่ชั้นบน ซึ่งยังเหลือปูนฉาบเป็นลานกว้าง มีร่องรอยว่าเดิมอาจมีสถูปประดิษฐานอยู่ทางทิศตะวันตก และวิหารขนาดเล็กอยู่ด้านหน้า แต่ปัจจุบันพังทลายไปเกือบจะไม่เหลือร่องรอย ภายในบริเวณวัดยังมีเจดีย์ราย วิหาร และอาคารขนาดเล็กหลายแห่ง

ปรางค์ศรีเทพ : เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ปราสาทประธานเป็นแบบศิลปะเขมร ส่วนบนก่อด้วยอิฐฐานเป็นศิลาแลงฉาบปูน ตั้งอยู่บนลานดินที่ก่อรอบด้วยศาลาแลงเป็นฐานสี่เหลี่ยมยกพื้นสูง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก สองข้างลานด้านหน้ามีบรรณาลัย 2 หลัง เป็นที่เก็บคัมภีร์ทางศาสนา ปัจจุบันเหลือเพียงฐาน มีทางเดินรูปกากบาทเรียกว่าสะพานนาค เชื่อมต่อระหว่างโคปุระหรือประตูทางเข้าด้านหน้า กับพื้นที่ส่วนล่างซึ่งมีทางเดินศิลาแลง และฐานอาคารประกอบพิธีกรรมอีกหลายแห่ง

จากการขุดค้นโบราณสถาน พบทวารบาลหินทรายสมัยบายน และชิ้นส่วนทับหลัง กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนกลีบขนุนที่ยังสลักไม่เสร็จ จึงสันนิษฐานว่าโบราณสถานแห่งนี้คงสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดูในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 และได้รับการซ่อมแซมแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนามหายานตามความนิยมในช่วงสมัยบายนของเขมรในต้นพุทธศตวรรษที่ 18 แต่ยังไม่แล้วเสร็จ

ปรางค์สองพี่น้อง : เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ปราสาทประธานเป็นแบบศิลปะเขมร ก่อด้วยอิฐ ฐานเป็นศิลาแลง ฉาบปูนทั้งองค์ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก มีปราสาทหลังเล็กที่สร้างเพิ่มขึ้นภายหลังตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน จึงเป็นที่มาของชื่อโบราณสถาน บริเวณหน้าปราสาทมีทางเดินและอาการประกอบพิธีกรรมต่างๆก่อด้วยศิลาแลงหลายหลัง ด้านหน้าสุดมีทางเดินรูปกากบาท และจากการขุดค้นโบราณสถานได้พบประติมากรรมรูปสุริยเทพ หรือพระอาทิตย์ ที่บริเวณทางเดินด้านนี้

การขุดค้นโบราณสถานพบทับหลังจำหลักรูป “อุมามเหศวร” ซึ่งปัจจุบันติดตั้งอยู่ที่ปราสาทหลังเล็ก มีลักษณะศิลปะแบบบาปวนนครวัด ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17 และรูปเคารพได้แก้ โคนนทิ ฐานโยนี และศิวลึงค์ ถูกฝังไว้ในระดับใต้ฐานอาคาร จึงสันนิษฐานว่าแต่เดิมโบราณสถานแห่งนี้คงจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 ต่อมาอาจเปลี่ยนแปลงเป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธมหายาน เช่นเดียวกับปรางค์ศรีเทพ ในราวพุทธศตวรรษที่ 18 จึงได้มีการฝังรูปเคารพในศาสนาเดิมไว้ใต้ฐานอาคาร

อุทยานประวิติศาสตร์ศรีเทพ อยู่ในความดูแลของ สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม , มีวิทยากรนำชมอุทยานฯ บริการนำชมโบราณสถานรอบเมืองในด้วยรถไฟฟ้า

ที่ตั้ง : อยู่ในอำเภอศรีเทพ ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ประมาณ 107 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอวิเชียรบุรีประมาณ 25 กิโลเมตร นับจากสี่แยกทางหลวงหมายเลข 21 ตัดกับทางหลวงหมายเลข 2211 (ก็คือสี่แยกวิเชียรบุรี ที่มีร้านไก่ย่างเยอะๆนั่นแหละครับ) มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกอีก 7 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานประวิติศาสตร์ศรีเทพ

พิกัด :  ทางเข้าด้านศูนย์ข้อมูลฯ อุทยานประวิติศาสตร์ศรีเทพ (เมืองใน) N15.47403 E101.14639

ค่าธรรมเนียม : ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท, เปิดบริการทุกวันระหว่าง 08.00 – 16.30 น.

ข้อมูล : จากแผ่นพับของ อุทยานประวิติศาสตร์ศรีเทพ สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี

ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร ออนไลน์

ปรางค์ศรีเทพ
เขาคลังใน

ปรางค์สองพี่น้อง

 

วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2555

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี


ตั้งอยู่ที่ถนนปราจีนอนุสรณ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฯ จังหวัดปราจีนบุรี โทรศัพท์ 037-211-586 (หลังศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรี ทางเข้าอยู่ติดกับศาลจังหวัดปราจีนบุรี) เวลาทำการ 09.00 น. ถึง 16.00 น. ทุกวันเว้น (ปิด) วันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าธรรมเนียมเข้าชมคนละ 30 บาท

พิกัด N14.04684 E101.37304

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี เป็นพิพิธภัณฑสถานประเภทประวัติศาสตร์โบราณคดีประจำภูมิภาคตะวันออก จัดตั้งขึ้นเพื่อจัดแสดงและรวบรวมศิลปะโบราณวัตถุ ซึ่งได้จากแหล่งโบราณคดีต่างๆในภาคตะวันออกและใกล้เคียง อาทิ ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตราด ระยอง และนครนายก ซึ่งจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับโบราณคดีในภาคตะวันออก เริ่มต้นตั้งแต่การเข้ามาตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ เมื่อประมาณหนึ่งหมื่นปีมาแล้ว เรื่อยมาจนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ 20 โดยเน้นการจัดแสดงที่เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นสำคัญ

ครั้งนี้ผมชวนมาชมทับหลัง (LINTELS) เนื่องจากที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี มีทับหลังที่สวยงามและเก่าแก่อยู่หลายชิ้น ควรค่าแก่การชื่นชมและศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

ทับหลังมีอยู่ 2 ประเภท คือ ทับหลังจริงและทับหลังประดับ ทับหลังจริง คือ ส่วนบนกรอบประตู ทำหน้าที่รับและถ่ายน้ำหนักของส่วนบนของอาคาร ให้น้ำหนักนั้นเฉลี่ยและถ่ายลงบนกรอบด้านข้างของกรอบประตู มีความยาวเกินด้านของกรอบเสาประตูแนวตั้งออกมา และส่วนที่เกินนี้จะอยู่เข้าไปในผนังอาคาร

ทับหลังประดับ คือ แท่งหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สลักลวดลายประดับในรูปแบบต่างๆ โดยที่วางเกี่ยวอยู่บนส่วนหนึ่งของทับหลังจริง ความยาวของทับหลังประดับอาจยาวเกินกรอบประตูออกมาทั้งสองข้างเช่นเดียวกับทับหลังจริง ทับหลังประดับนี้จะวางประกบชนกับหินอีกชิ้นหนึ่งที่ทำเป็นวงโค้งถ่ายน้ำหนัก โดยที่ส่วนหน้าของทับหลังประดับ จะยื่นเกินกรอบประตูออกมา และส่วนที่ยื่นมานี้จะมีเสาประดับกรอบประตูค้ำอยู่บนผิวด้านนอกของทับหลังประดับ

ชิ้นที่ 1. ทับหลังปราสาทเขาน้อย ศิลปะเขมรแบบไพรกเมง อายุประมาณ พ.ศ.1180-1250

ทับหลังชิ้นนี้เป็นหนึ่งในจำนวนทับหลังแบบไพรกเมง 2 ชิ้น ที่พบ ณ ปราสาทเขาน้อย (ตั้งอยู่บนยอดเขาน้อยสีชมพู หมู่ 1 บ้านคลองน้ำใส ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว  ห่างจากพรมแดนไทย-กัมพูชา ประมาณ 1 ก.ม.) ลักษณะโดยรวมมีวงโค้งวงเดียวขนาดใหญ่ ที่ปลายม้วนเข้าภายใน บนวงโค้งประกอบด้วยวงกลมรูปเหรียญ 3 วง เบื้องล่างมีอุบะดอกไม้บานสลับดอกไม้ตูมและพวงมาลัย เป็นลักษณะของศิลปะไพรกเมง นอกจากนี้ยังมีเทวดานั่งท่าชันเข่าประคองอัญชลีแทนที่มกร (มกร หรือ เบญจลักษณ์ เป็นสัตว์ตามความเชื่อของพม่า ล้านนา สยาม และเขมร เรียกอีกอย่างว่าตัวสำรอก เนื่องจากในงานศิลปะ มกรมักจะคายหรือสำรอกเอาวัตถุใดๆ ออกมาทุกครั้ง เช่น มกรคายนาค (พญานาค)) ที่อยู่บนฐานที่ปลายวงโค้งทั้งสองด้าน เทวดานี้มีลักษณะแบบเทวดานั่งชันเข่าจากปราสาทวัดประหาร และเทวดาประนมอัญชลี จากปราสาทตวลบาเสท ประเทศกัมพูชา มาประกอบกัน แต่น่าสังเกตว่าเทวดาจากเขาน้อยมีเกศาขมวดก้นหอย ซึ่งเป็นลักษณะค่อนข้างแปลก ลายที่ประดับอยู่หน้าฐานที่รองรับเทวดาประกอบด้วยวงโค้ง 3 วง และดอกไม้บานก็ดูจะเป็นของที่ไม่พบในประเทศกัมพูชา ส่วนแถวลายใบไม้ม้วนที่เป็นแนวเชื่อมระหว่างฐาน 2 ข้างใต้ลายพวงอุบะนั้น เป็นลายที่พัฒนามาจากลายเดียวกันที่อยู่บนทับหลังแบบสมโบร์ไพกุก ชิ้นที่พบที่ปรางค์องค์กลางของปราสาทแห่งนี้

ชิ้นที่ 2. ทับหลังปราสาทเขาน้อย ศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุก ตอนปลายร่วมต้นสมัยศิลปะไพรกเมง ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 12

ทับหลังสองชิ้นนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก แต่ถ้าจะดูในรายละเอียดจะเห็นลักษณะที่แตกต่างกันไปบ้าง เป็นต้นว่าลายค่อนข้างจะแข็งกระด้าง ที่ปากมกรแทนที่จะมีสิงห์โผล่ออกมาตามปรกติ กลับกลายเป็นหงส์แทน ภายในวงกลมรูปเหรียญแทนที่จะมีรูปช้างและม้า กลับการเป็นหงส์ทั้ง 3 วง โดยที่วงกลมตรงกลางหงส์จะหันหน้าตรง ส่วนวงข้างหงส์จะหันหัวเข้ามองเห็นด้านข้าง ใบไม้รอบวงรูปเหรียญมีลักษณะลายยืดออก ภายในวงโค้งประดับด้วยดอกไม้ 6 กลีบ ซึ่งลายดอกไม้ 6 กลีบนี้จะต่างกับลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนในวงโค้งของทับหลัง อีกชิ้นหนึ่งที่ปลายอุบะที่เสี้ยวมีลายดอกไม้ 5 กลีบ ที่มีลักษณะตามแบบศิลปะสมโบร์ ไพรกเมง สำหรับลายดอกไม้ 5 กลีบที่ปลายอุบะนี้ ยังคงทำตามประเพณีแบบสมโบร์ไพรกุก มากกว่า

ขอบคุณข้อมูลจาก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี

ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร ออนไลน์






ทับหลัง ชิ้นที่ 1.




ทับหลัง ชิ้นที่ 2.



พระพุทธรูปนาคปรก ศิลปเขมรแบบบายน อายุประมาณ พ.ศ.1720-1773