วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ปราสาทศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

18 กรกฎาคม 2553


มาถึงจังหวัดสุรินทร์ก็ต้องหาโอกาสไปชมปราสาทศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ เป็นปราสาทที่มีทับหลังที่สวยงามและสมบูรณ์ที่สุดชิ้นหนึ่งของเมืองไทย 

ปราสาทศรีขรภูมิ ตั้งอยู่ที่ตำบลระแงง อำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ จากลักษณะทางศิลปกรรมสันนิษฐานว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นศาสนสถานในลัทธิไศวนิกาย และในพุทธศตวรรษที่ 22 มีการบูรณะเพิ่มเติมที่องค์ปราสาทแถวหลังฝั่งทิศใต้ เป็นแบบศิลปะล้านช้าง และยังมีจารึกอักษรธรรมปรากฏอยู่ ณ ปราสาทหลังนี้



ปราสาทศีขรภูมิ มีลักษณะเป็นปรางค์หมู่ 5 องค์ เป็นปราสาทก่ออิฐไม่สอปูน ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน โดยตัวฐานก่อด้วยศิลาแลง กว้าง 25 เมตร ยาว 26 เมตร สูง 1.5 เมตร มีคูน้ำยาว 125 เมตร ล้อมรอบสามด้าน โดยเว้นด้านตะวันออกเป็นทางเข้าไว้


องค์ปรางค์ประธานสูงประมาณ 32 เมตร มีทับหลังเป็นภาพพระศิวนาฏราชสิบกร เหนือขึ้นไปเป็นหน้าบันที่ว่างปล่าว


ที่ทับหลังแกะสลักเป็นภาพพระศิวะทรงฟ้อนรำอยู่เหนือเกียรติมุข ภายใต้วงโค้งลายท่อนมาลัย ซึ่งสลักเป็นภาพพระคเณศ พระพรหม พระวิษณุ และพระอุมา ทับหลังชิ้นนี้นับเป็นทับหลังที่มีความสวยงามและสมบูรณ์ที่สุดชิ้นหนึ่งของเมืองไทย


“หน้ากาล” มักสลักอยู่บนทับหลัง ประกอบอยู่ใต้ภาพเทพเทวดาต่างๆ มีความเชื่อว่า “กาล” เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่พระศิวะทรงสร้างขึ้น เพื่อให้ทำหน้าที่เฝ้าเทวาลัยป้องกันไม่ให้สิ่งชั่วร้ายผ่านเข้ามา คำว่า “กาล” หมายถึง “เวลา” ซึ่งจะกลืนกินทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งตัวของมันเองก็ยังถูกกลืนกินเข้าไปจนเหลือแต่หัว พระศิวะทรงตั้งชื่อให้อีกชื่อหนึ่งว่า “เกียรติมุข” หมายถึงหน้าที่ที่มีเกียรติ ทรงกล่าวว่าผู้ใดไม่ให้เกียรติแก่เกียรติมุข ผู้นั้นจะไม่ได้รับพรจากพระองค์


พระพรหม และพระคเณศ


พระวิษณุ และพระอุมา


บริเวณเสากรอบประตูสลักเป็นรูปนางอัปสราถือดอกบัว นางอัปสราที่ปราสาทศีขรภูมินี้มีลักษณะคล้ายกับนางอัปสราที่ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา ซึ่งไม่พบที่ปราสาทศิลปะเขมรโบราณแห่งใดอีกเลยในประเทศไทย พบที่ปราสาทศีขรภูมิเพียงแห่งเดียวเท่านั้น


รูปสลักนางอัปสราและทวารบาลยืนกุมกระบอง ประตูทางเข้าด้านซ้าย


บัวรัดเกล้าและเศียรนาค เหนือทับหลัง บนเสาประตูทางเข้าด้านขวา


บัวรัดเกล้าและเศียรนาค เหนือทับหลัง บนเสาประตูทางเข้าด้านขวา


ปราสาทแถวหลังด้านใต้ เป็นปราสาทองค์เดียวทีมียอดอยู่ในสภาพสมบูรณ์


บัวยอด และลูกแก้วหรือเม็ดน้ำค้าง อันเป็นส่วนยอดบนสุดของปราสาท ที่นำลงมาตั้งแสดงอยู่ข้างล่าง


พิกัดปราสาทศรีขรภูมิ : N14.94430 E103.79924
  
ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
ทัศนาจร




ขอบคุณข้อมูล วิกิพีเดีย

1 ความคิดเห็น: