วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

Om Swastyastu Bali, Day1

ขอกล่าวคำทักทายด้วยคำในภาษาบาหลีว่า "Om Swastyastu" (โอม สวัสเตียสะตู) ซึ่งแปลว่า "สวัสดีตอนเช้า" หรือความหมายเดียวกันในภาษาอินโดนีเซียว่า "Selamat Pagi" (เซอลามัต ปากี) ครับ และแน่นอนว่าทริปนี้เราไป "บาหลี" กันครับ เพื่อให้การท่องเที่ยวบาหลีอย่างออกรสมากยิ่งขึ้น จึงขอกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของบาหลีสักเล็กน้อยครับ

บาหลีเป็น 1 ใน 34 จังหวัดของประเทศอินโดนีเซีย และเป็น 1 ใน 17,000 กว่าเกาะของประเทศอินโดนีเซีย (ใช่ครับอ่านไม่ผิด "หนึ่งหมื่นเจ็ดพันกว่าเกาะ") บาหลีตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะชวา มีเมืองสำคัญคือ "เดนปาซาร์" (Denpasa) พื้นที่ทั้งหมด 5,634.40 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 3.5 ล้านคน ชาวบาหลีนับถือศาสนาฮินดู (93.19%), อิสลาม (4.79%), คริสต์ (1.38%), พุทธ (0.64%) ในขณะที่ประชาชนทั้งประเทศอินโดนีเซียนับถือศาสนาอิสลามถึง 95% บาหลีจึงถือเป็นชุมชนฮินดูที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย

ย้อนหลังไปเมื่อประมาณศตวรรษที่ 7 พ่อค้าชาวอินเดียเป็นผู้ที่ได้นำศาสนาฮินดูเข้ามาเผยแพร่ในเกาะชวาเป็นครั้งแรก ต่อมาศตวรรษที่ 9 ศาสนาฮินดูได้เริ่มเผยแพร่เข้าไปในเกาะบาหลี จนกระทั้งในศตวรรษที่ 15 มุสลิมเริ่มมีอำนาจเหนือเกาะชวา ชาวฮินดูชั้นสูงจึงได้อพยพข้ามมายังเกาะบาหลี พร้อมทั้งได้นำเอาศิลปวัตถุ ช่างศิลป์ นาฏศิลป์ ติดตามเข้ามาด้วย การอพยพดังกล่าวดำเนินไปจนกระทั่งศตวรรษที่ 16 จึงสิ้นสุดลง การอพยพของชาวฮินดูดังกล่าวก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวบาหลีเป็นอย่างมาก  

เกาะบาหลี

การยึดครองของฮอลันดา

นักล่าอณานิคมชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เดินทางมายังบาหลี เมื่อ ค.ศ.1597 คือ ชาวฮอลันดา นำโดยกัปตันโกเลอนียึส เดอ เฮาต์มัน (Colenius de Houtman) ต่อมาในปี ค.ศ.1846 ฮอลันดาได้อ้างการกู้เรือจมบริเวณชายฝั้งทางด้านเหนือใกล้กับเมืองสิงคราช (Singaraja) ในปัจจุบัน เป็นข้ออ้างแล้วนำกำลังทหารเข้ายึดอาณาจักรบูเลเล็ง (Buleleng) และเจ็มบรานา (Jembrana) ในขณะเดียวกันชนชั้นปกครองในบาหลีเริ่มแตกแยกและแบ่งออกเป็นอาณาจักรย่อยๆ ฮอลันดา จึงเริ่มเข้ามามีอิทธิพลโดยใช้วิธีแบ่งแยกและปกครอง ตีเอาอณาจักรจากทางตอนเหนือไล่ลงมาทางใต้ ฮอลันดาได้บุกเข้ามาถึงชานเมืองเดนปาซาร์ (Denpasar) เมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ.1906 แล้วเริ่มยิงถล่มเมืองเดินปาซาร์ ฝ่ายบาดุงใช้นักรบพลีชีพที่เรียกว่า ปูปูตัน (Puputan) ส่วนบรรดาเชื้อพระวงค์ทรงเผาพระราชวังและแต่งพระองค์เต็มพระยศพร้อมทรงกริช ทรงดำเนินการร่วมรบพร้อมกับเหล่านักบวชและข้าราชบริพารเข้าต่อสู้กับฮอลันดา แต่ก็ไม่สามารถต้านทานฮอลันดาได้ แม้จะพ่ายแพ้แต่ฝ่ายบาดุงก็ไม่ยอมจำนน กลับแทงตัวตายด้วยกริช เหตุการณ์ในครั้งนั้นมีชาวบาหลีเสียชีวิตประมาณ 4,000 คน ในที่สุดฮอลันดาด้วยกำลังทหารที่เหนือกว่าได้เข้าควบคุมบาหลีทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจได้ทั้งหมดเมื่อราวปี ค.ศ.1840 ได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยรวมบาหลีเข้าเป็นส่วนหนึงของอินเดียตะวันออกของฮอลันดา (Dutch East Indies)

สงครามโลกครั้งที่สองและการประกาศเอกราช

กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่หาดซานูร์ ในปี ค.ศ.1942 และได้ตั้งกองบัญชาการที่เมืองเดนปาซาร์และเมืองสิงคราช กองทัพญี่ปุ่นได้ขับไล่ชาวฮอลันดาออกไปจากบาหลี แต่เมื่อญี่ปุ่นตกเป็นผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่สองเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ.1945 ฮอลันดาจึงต้องการกลับเข้ามายึดครองบาหลีอีกครั้ง แต่ถูกต่อต้านโดยขบวนการต่อต้านฮอลันดา ที่ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ.1945 โดยนายซูการ์โน (Soekarno) ซึ่งได้ถือโอกาสประกาศเอกราชแก่ดินแดนที่เคยอยู่ภายใต้การยึดครองของฮอลันดาทั้งหมด และก่อตั้งสาธารณรัฐอินโดนีเซียขึ้น แต่ฝ่ายฮอลันดาปฏิเสธไม่ให้การรับรอง จึงเกิดขบวนการต่อต้านฮอลันดาในบาหลีขึ้น โดยใช้ชื่อว่า เต็นตรา เกอะอะมานัน รัคยัต (Tentra Keamanan Rakyat) หรือกองกำลังความมั่นคงแห่งประชาชน (People's Security Force) ลุกฮือขึ้นต่อต้านฮอลันดาที่เมืองมาร์กา (Marga) เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ.1946 นำโดยอิ กุสตี งูระห์ ไร (I Gusti Ngurah Rai) เป็นการต่อสู้เพื่อพลีชีพของนักรบหรือปูปูตันอีกครั้ง ในที่สุดฮอลันดายอมประกาศรับรองเอกราชของอินโดนีเซีย เมื่อปี ค.ศ.1949 บาหลีจึงเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียนับจากนั้นเป็นต้นมา

(ข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org และหนังสือมนตราบาหลี)

ทริปนี้สมาชิกประกอบด้วย บ้านบางพลี (5) บ้านสาทร (3) บ้านท่าข้าม (3) รวมทั้งหมด 11 ชีวิต สำหรับบ้านสาทรและบ้านท่าข้ามเดินทางระหว่างวันที่ 25 ถึง 29 ธันวาคม 2558 ส่วนบ้านบางพลีออกเดินทางไปด้วยกันจนจบทริปบาหลี แล้วจะเลยไปปีนภูเขาไฟ "โบรโม่" ต่อ ซึ่งอยู่ที่เกาะชวาตะวันออกลงไปทางใต้ของเมืองสุราบายา จึงขยายทริปข้ามปีไปถึงวันที่ 2 มกราคม 2559 





เมื่อสมาชิกจำนวนมาก ทั้งหนุ่มน้อย หนุ่มใหญ่ สาวน้อย สาวใหญ่ แล้วก็ยังกลับไม่พร้อมกันอีก แถมยังต้องระวัง "เหลี่ยมพวกเราจึงตกลงใช้บริการคุณแหม่มแห่ง  www.mambalitour.com  เป็นคนจัดการทางฝั่งบาหลีและโบรโม่ให้เราทั้งหมด (คุณแหม่มเป็นคนไทยนะครับ) ยกเว้นตั๋วเครื่องบินเราซื้อกันเอง โดยบ้านสาทรเป็นธุระจัดหาตั๋วเครื่องบินให้พวกเราทั้งคณะ

โชว์ตัวผู้ใหญ่บ้าน (บ้านสาทร-บ้านบางพลี-บ้านท่าข้าม)


ปรากฏว่าธรรมชาติพิจารณาแล้ว ยังไม่อนุญาตให้บ้านบางพลีเข้าเยี่ยมชมโบรโม่ โบรโม่เป็นภูเขาไฟที่ยังมีชีวิตยังไม่ดับ แต่ก็นิ่งเงียบสงบมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 อยู่ๆกลับปะทุขึ้นอีกครั้งก่อนหน้าที่พวกเราจะเดินทางไปไม่กี่สัปดาห์ และในที่สุดก็ได้รับการยืนยันก่อนการเดินทางไม่กี่วันจากคุณแหม่มว่า ไม่สามารถเดินทางไปโบรโม่ได้ จึงทำให้บ้านบางพลีต้องเปลี่ยนที่หมายไปปีนภูเขาไฟดมกลิ่นกำมะถันที่ "คาวาอีเจี้ยน" แทน ข่าวภูเขาไฟที่โบรโม่  คลิก


ภาพข่าวจากไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2558

ก่อนออกเดินทางคุณแหม่มได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์มาก ๆ แก่พวกเรา จึงขออนุญาตนำมาแบ่งปันเป็นข้อมูลไว้ดังนี้ 

เรื่องควรรู้ก่อนเที่ยวบาหลี (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2558)

วีซ่า

สำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศไทยไม่ต้องขอวีซ่าเพื่อเข้าบาหลี ใช้เพียงหนังสือเดินทางที่มีอายุเหลือไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก็สามารถเดินทางได้ทันที และไม่ต้องเสียค่าวีซ่าใดๆ เมื่อมาถึง

หน่วยเงิน

หน่วยเงินของบาหลีและอินโดนีเซียเป็น รูเปียห์ (Rupiah) สามารถนำเงินไทยมาแลก แต่ขอแนะนำให้ถือเงินสกุลดอลล่าห์สหรัฐมาแลกจะได้เรทที่ดีกว่า คือ 1 เหรียญสหรัฐฯ จะแลกได้ 13,000 รูเปียห์ (เรทวันที่ 20 ตุลาคม 2015หรือหากเทียบแล้ว 1 บาท เท่ากับ 360 รูเปียห์

• ธนบัตรมีมูลค่า 1,000, 2,000, 5,000, 10,000, 20,000, 50,000, และ 100,000 รูเปียห์ ส่วนเหรียญมีมูลค่า 25, 50, 100, 500, และ 1,000 รูเปียห์ อย่างไรก็ดี อัตราแลกเปลี่ยนเงินรูเปียห์นั้นผกผันได้อย่างมาก ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในประเทศอินโดนีเซีย ควรตรวจสอบอีกครั้งก่อนการเดินทาง

บัตรเคดิตเป็นที่ยอมรับทั่วไปของร้านค้า โรงแรม และภัตตาคารในย่านแหล่งท่องเที่ยว บัตรเครดิตที่รับคือ วีซ่ามาสเตอร์การ์ด และอเมริกัน เอ็กเพรส แต่บางร้านอาจจะชาร์ท 3 % สำหรับการใช้บัตร ท่านควรจะถามร้านค้าก่อนตัดสินใจจ่ายบัตรเครดิต

การติดต่อสื่อสาร

โทรศัพท์ โทรศัพท์สาธารณะในบาหลีมีบริการในบริเวณที่เป็นแหล่งความเจริญและแหล่งท่องเที่ยว มีบริการทั้งแบบหยอดเหรียญและแบบใช้บัตรโทรศัพท์ ส่วนค่าโทรศัพท์กลับมาเมืองไทยจะตกอยู่ในราวนาทีละ 35 บาท (หมุน 001+66+หมายเลขที่ต้องการ) แต่ถ้าต้องการโทรศัพท์ในราคาพิเศษ ขอแนะนำให้ท่านซื้อซิมการ์ดยี่ห้อ Simpatic ซึ่งราคาประมาณ 20,000 รูเปียห์ และในซิมจะมีเงินไว้ให้อยู่แล้ว 5,000 รูเปียห์ ท่านต้องให้พนักงานทำการ Register ให้ท่าน ก่อนจะนำซิมมาใส่เครื่องท่าน และสามารถให้ทางร้านเติมเงินให้ท่าน มีตั้งแต่ราคา 10,000 20,000 50,000 100,000 รูเปียห์

เวลาโทรกลับเมืองไทย กดรหัสพิเศษดังนี้
01017 + 66 + หมายเลขที่ต้องการ (ตัด 0 ออก) โทรกลับเมืองไทยตกนาทีละ 3.50 บาท

 ซิมการ์ดรวมแพคเก็จอินเตอร์เน็ต ขอแนะนำให้ท่านซื้อซิมการ์ดยี่ห้อ Simpatic ซึ่งราคารวมค่าซิมและแพคเก็จอินเตอร์เน็ต คือ 100,000 รูเปียห์ ไม่สามารถซื้อเตรียมไว้ท่านได้ เนื่องจากทางร้านจะเป็นผู้ทำการเปิดใช้ซิมให้กับท่าน และสามารถตัดขนาดซิมให้ท่านตามลักษณะของเครื่องมือถือที่ท่านใช้ไม่ว่าจะเป็น Iphone 4 หรือ Iphone 5 ท่านสามารถแจ้งกับคนขับหรือไกด์ของท่านให้พาไปซื้อซิมได้เมื่อมาถึงบาหลี

หมายเลขโทรศัพท์สำคัญที่ควรรู้
เบอร์แหม่มบาหลี เบอร์ 081337750593
รถพยาบาล 118
ดับเพลิง 113
ตำรวจ 110

ไปรษณีย์ ที่ทำการไปรษณีย์เปิดทำการวันจันทร์-เสาร์ โดยวันจันทร์-พฤหัสบดี เปิดเวลา 8.00-14.00 น. วันศุกร์ 8.00-11.00 น. และวันเสาร์ 8.00-12.30 น. การส่งโปสการ์ดกลับเมืองไทย ติดแสตมป์ 7,000 รูเปียห์

  ธนาคาร/บัตรเครดิต
-วีซ่า 226578
-มาสเตอร์การ์ด 222652
-อเมริกัน เอ็กเพรส 288511ต่อ111 หรือ 773334

ไฟฟ้า 
 กระแสไฟฟ้าที่บาหลีใช้คือ 220-240 โวลต์ ดังนั้นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่นำไปจากประเทศไทยสามารถนำไปใช้ได้และ Adapter ที่ควรเตียมมานั้นต้องสามารถเสียบกับปลั๊กไฟเป็นแบบหัวกลมสองตา แนบรูปมาให้แล้วค่ะ

เวลา 
 เวลาของบาหลีเร็วกว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง เช่น เมื่อท่านลงเครื่องที่สนามบินบาหลีเวลา 11.30 น. เมืองไทยคือ 10.30 .

เวลาทำงานและประกอบกิจการ

เวลาเปิด-ปิดของสถานที่ต่างๆ จะไม่ตรงกันหากเป็นสำนักงานทั่วไป เช่น สายการบินจะเปิดวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.00-16.00 น. และมีเวลาหยุดพักกลางวันต่างๆ กันไป ธนาคารจะเปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-15.00 น. 
ร้านค้าทั่วไปเปิดประมาณ 10.00-20.00 น. หรืออาจเลยไปถึง 22.00 น.
ส่วนสถานที่ราชการจะเปิดทำการวันจันทร์-พฤหัสบดี เวลา 8.00-15.00 น. วันศุกร์ 8.00-11.30 น. และวันเสาร์ 8.00-12.00 น.

การแต่งตัวของนักท่องเที่ยวเมื่อไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ
แนะนำให้ท่านแต่งตัวด้วยผ้าฝ้ายแบบสบายๆ เพราะอากาศที่บาหลีนั้นค่อนข้างร้อนชื้น สามารถใส่ได้ทั้งขาสั้นและขายาว รองเท้าที่ใส่สบาย ไม่ควรเป็นส้นสูง เพราะมีการเดินขึ้นที่สูงด้วย อาจจะไม่สะดวก อาจจะเป็นรองเท้าแตะก็ได้
สำหรับการสวมใส่โสร่งนั้นส่วนใหญ่วัดตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆที่เราเข้าไปถึงด้านในดังเช่น Pura Uluwatu, Pura Tirta Empul, Pura Kunung Kawi, Pura Goa Gajah จะมีโสร่งจัดเตรียมไว้ให้เป็นการบริการ ยกเว้น Pura Besakih ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องจัดเตรียมไปเอง หากใช้บริการแพคเก็จของทางเรา ไกด์จะเป็นผู้จัดเตรียมไว้ให้ค่ะ

สภาพอากาศ
อากาศที่บาหลีจะร้อนชื้นตลอดทั้งปี (24 – 30 องศาเซลเซียส)

สินค้าที่น่าซื้อ
เครื่องไม้แกะสลัก ผ้าโสร่ง เครื่องเงิน ผ้าบาติก กระเป๋าสาน และสินค้าพื้นเมืองอื่นๆ

มารยาทในสถานที่ต่างๆ
ชาวบาหลีถือเรื่องศีรษะเหมือนคนไทยว่าเป็นของสูง ดังนั้นการส่งของข้ามศีรษะจึงเป็นสิ่งไม่สมควร

การแลกเงิน 
• แลกเงินบาทจากเมืองไทยเป็นเงินสกุลดอลล่าห์สหรัฐ และนำเงินสกุลดอลล่าห์มาแลกเป็นรูเปียห์ที่บาหลีจะได้เรทที่ดีกว่านำเงินไทยมาแลกค่ะ หากแลกในสนามบินจะได้เรทต่ำ กว่าด้านนอกประมาณ 200-300 รูเปียห์ค่ะ แนะนำว่าให้ท่านแลกด้านนอกสนามบินจะดีกว่า โดยคนขับหรือไกด์ของท่านสามารถพาท่านไปแลกร้านที่เรทดี และถูกต้องตามกฎหมาย มีใบเสร็จรับเงิน อย่าเข้าไปแลกร้านเล็กที่ให้เรทดีกว่าปกติ เพราะท่านอาจเจอกลโกงต่างๆที่คาดไม่ถึงได้ค่ะ

ข้อควรระวังเบื้องต้นที่สนามบิน

1.ขอให้ท่านตรวจดูวันหมดอายุในพาสปอร์ตของท่านว่ายังคงมีอายุมากกว่า เดือนนับจากวันที่ท่านเดินทางมาถึงบาหลีมิฉะนั้นทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะปฎิเสธการเดินทางเข้ามายังบาหลีของท่านค่ะ

2. ขณะที่ท่านรอรับกระเป๋าที่สนามบินบาหลี อาจจะมีพนักงานขนกระเป๋าในสนามบินเสนอตัวมาช่วยท่านขนกระเป๋าหากไม่ต้องการขอให้ปฎิเสธโดยตรง เพราะหากท่านปล่อยให้พนักงานขนกระเป๋าช่วยท่านขนกระเป๋าแล้ว เขาจะคิดค่าบริการท่าน สำหรับค่าบริการตามระเบียบของสนามบินคือท่านสามารถให้ได้ใบละ 5,000 รูเปียห์ หากเขาเรียกร้องมากกว่านั้น ท่านสามารถปฏิเสธได้ค่ะ

3. บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมือง และด่านศุลกากร ตอนตรวจเช็คสัมภาระ กรุณาอย่าถ่ายรูปเพราะมีข้อห้ามไว้บริเวณนั้น ข้อให้ท่านระวังในการใช้กล้องถ่ายรูป เจ้าหน้าที่ด่านอาจเดินมาห้ามท่านและนำท่านไปเสียค่าปรับได้ค่ะ

ขอบคุณคำแนะนำจากคุณแหม่มบาหลี



ได้ทราบคำแนะนำดีๆจากคุณแหม่มกันไปแล้ว แต่ก่อนออกเดินทางผมขอเล่าเรื่องความเชื่อพื้นฐานของชาวบาหลีสักเล็กน้อย เพื่อความเข้าใจไปในทางเดียวกันครับ

ชาวบาหลีส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูที่เรียกว่า "ฮินดูธรรม" (Hindu Dharma) ซึ่งเป็นการผสมผสานกันระหว่างศาสนาพุทธที่แพร่หลายอยู่ก่อนแล้วกับศาสนาฮินดูที่นับถือพระศิวะเป็นใหญ่ มีหลักปฏิบัติจากปรัชญาอินเดียรวมกับความเชื่อของคนในท้องถิ่น ฮินดูที่บาหลีจึงมีความแตกต่างไปมากกับฮินดูที่อินเดีย กล่าวคือ เป็นฮินดูแบบบาหลี

ชาวบาหลีเชื่อว่าธรรมชาติมีพลังและจิตวิญญาณ สรรพสิ่งรอบกายล้วนมีวิญญาณสิงสถิตย์อยู่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นภูเขา ทะเล แม่น้ำ ท้องฟ้า เป็นต้น จักรวาลเป็นองค์รวมของทุกสิ่ง ทั้งปวงเทพ มนุยษ์ และปีศาจ ต่างเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล

ปวงเทพ จะได้รับการถวายเครื่องสักการะบูชาที่ทำขึ้นอย่างวิจิตรบรรจง เพื่อแสดงความขอบคุณถึงความกรุณาที่ปวงเทพมีต่อมนุษย์ หากละเลยจะถูกลงโทษ จะเกิดภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว โรคระบาด เครื่องสักการะบูชาสำหรับเทพเจ้า จะนำไปบริโภคต่อหลังจากถวายแก่ปวงเทพแล้ว

ส่วนปีศาจ ก็จะได้รับเครื่องบูชาเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้มนุษย์ถูกรังควาน แต่เครื่องบูชาปีศาจ ซึ่งจะวางอยู่ตามพื้น จะถูกนำไปทิ้งไม่นำไปบริโภค เดินเที่ยวให้ระวังอย่าไปเหยียบเอา

เครื่องบูชาภูติผีปีศาจ

ด้วยความเชื่อในเรื่องของเทพเจ้านี่เอง บาหลีจึงมีวัดกระจัดกระจายอยู่นับพันวัด มีทั้งวัดขนาดใหญ่ วัดประจำชุมชน และยังมี “วัดในบ้าน” ซึ่งใช้เป็นสถานที่สักการะบูชาเทพเจ้า เพื่อให้ช่วยปกป้องรักษาและคุ้มครองคนในบ้านให้มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข

วัดในบ้านจะมีความอลังการแตกต่างกันไปตามกำลังทรัพย์ครับ

เอาละครับเกริ่นมาเสียยกใหญ่ถึงเวลาออกเดินทางกันละครับ อ้ออีกนิดนึงครับ เตรียมตัวแปลงปลั๊กไฟไปให้พร้อมด้วยนะครับ ที่อินโดนีเซียใช้ปลั๊กแบบขากลมครับ

ปลั๊กแบบขากลม


วันที่ 26 ธันวาคม 2558
พวกเราทะยอยถึงสนามบินดอนเมืองตั้งแต่ตี 3 กว่าๆ เพื่อรอขึ้นเครื่อง AirAsia
FD-396 ที่มีกำหนดออกบินเวลา 06.05 นาฬิกา ซึ่งทุกอย่างเรียบร้อยดี

มีแต่ USD เลยแลกเงินที่สนามบินไปอีก 5 แสน โห...เยอะเนอะ

อากาศปลอดโปร่ง

เตรียมหมอนรองคอมาเองเลย

เพียงงีบนึงก็ถึงแล้ว

เงียบสงบดีจัง

Gate 21 ที่ป้ายมีบอกพิกัด GPS ด้วย

ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมงกว่าๆ เที่ยวบิน FD-396 ก็ลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติ งูระห์ไร (Ngurah Rai International Airport) (IATA: DPS, ICAO: WADD) หรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า ท่าอากาศยานนานาชาติเดนปาซาร์ (Denpasar International Airport) สนามบินแห่งนี้ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะบาหลี ห่างจากเดนปาซาร์ไปทางใต้ 13 กิโลเมตร สนามบินแห่งนี้ตั้งชื่อตาม I Gusti Ngurah Rai ซึ่งเป็นวีรบุรุษอินโดนีเซียที่เสียชีวิตใน Battle of Marga ระหว่างการปฏิวัติอินโดนีเซีย ดังที่ได้กล่าวมาตอนต้นครับ


แวะเข้าห้องน้ำกันก่อน ตม. จะอยู่สุดทางเดินโน้น

เสร็จจาก ตม. ก็มารอสัมภาระ

พาเรามาโดย AirAsia

ถ่ายรูปหมู่รูปแรกที่หน้าสนามบินกันหน่อย !!! อย่าลืมนะครับ เข็นประเป๋าเอง
ถ้าให้พนักงานเข็นให้ ต้องเสียค่าบริการ 5,000 รูเปียห์

คนอื่นเขาไป MPV กัน แต่เราไปรถบัส 25 ที่นั่ง

ถึงขนาดนั่งกันคนละแถวกันเลย

ถนนในบาหลีค่อนข้างเล็ก ถ้าขับรถเองต้องระวังให้มาก แต่ขับชิดซ้ายเหมือนบ้านเรา

ชมวิวกันไปก่อน แต่ชักหิวแล้วซิ

ออกจากสนามบินก็เที่ยงกว่าแล้ว คุณแหม่มก็จัดอาหารจีนเป็นมื้อแรกให้พวกเราทันที

อร่อยถูกปากทีเดียว เห็นคุณแหม่มแว๊บๆด้วย







ผลไม้ปิดรายการมื้อเที่ยง ตกแต่งได้วิจิตรมาก

สิ่งที่ขาดไม่ได้เสียแล้วในการเดินทาง คือ การสื่อสาร ซิมนี้ใช้โทรก็ได้ อินเตอร์เน็ตก็ได้
สะดวกมาในการติดต่อกันในขณะที่อยู่บาหลี

รายการแรกของวันแรกคือ : สวนพระวิษณุ หรือ Garuda Wisnu Kencana Cultural Park หรือ GWK Cultural Park ( Website , Map )


สวนพระวิษณุแห่งนี้ผู้สร้างตั้งใจให้เป็นสวนวัฒนธรรมของบาหลี โดยวางแผนไว้ว่าจะสร้างรูปจำลองของพระวิษณุทรงครุฑ (Garuda) ที่มีขนาดใหญ่โตมาก จะมีความสูงถึง 120 เมตร ปีกของครุฑจะกว้างถึง 64 เมตร ทีเดียว 

ทางเข้า GWK Cultural Park

เนื่องจากรถเราไปด้วยรถบัส จึงต้องจอดที่ลานจอดรถข้างล่าง แล้วขึ้นรถของ Park ไปทางเข้า

จากทางเข้าเดินตามทางไปเรื่อยๆ จะผ่านสระน้ำแห่่งนี้ ก่อนขึ้นบันไดไปชมพระวิษณุ

รูปจำลองพระวิษณุทรงครุฑ ที่เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะมีลักษณะเป็นแบบนี้

พระวิษณุที่ยังสร้างไม่เสร็จ

ขนาดใหญ่โตมาก

ส่วนหัวของครุฑที่ยังสร้างไม่เสร็จเช่นกัน

นี่แค่หัวนะ

น่าเกรงขาม

สร้างแล้วถอดออกนำไปประกอบใหม่


ถ่ายรูปหมู่อีกครั้ง คนตัวเล็กไปเลย

ระยะไกล

พระวิษณุจะทรงครุฑอยู่บนสิ่งก่อสร้างไกลๆโน้น

ถ้าเสร็จแล้วคงจะอลังการมาก


รายการที่สอง : วัดอูลูวาตู (ULUWATU) Website , Map
วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 11 เพื่อถวายแด่ทวยเทพแห่งท้องทะเล ปัจจุบันยังใช้เป็นสถานที่ทำพิธีบวงสรวงเทพเจ้าและจัดพิธีกรรมทางศาสนาอยู่

วัดอูลูวาตู

ทางเข้าร่มรื่นดี

มีลิงเจ้าถิ่นหลายตัว นักท่องเที่ยวต้องระวังทรัพย์สินให้ดี

เห็นลูกตัวน้อยไหมครับ

กุมภกรรณ
เป็นโอรสของท้าวลัสเตียนและนางรัชฎา มีศักดิ์เป็นน้องแท้ ๆ ของทศกัณฐ์ มีหน้าและกาย
สีเขียว เป็นยักษ์ที่มีฤทธิ์มากที่สุดตนหนึ่ง มีอาวุธร้ายประจำกายคือหอกโมกขศักดิ์ ที่จริง
แล้วเป็นยักษ์ที่ตั้งมั่นในธรรม แต่ต้องออกรบช่วยทศกัณฐ์ เพราะเห็นแก่ความเป็นพี่น้อง
ทางเดินไปวัดเลาะริมหน้าผาทิวทัศน์สวยงาม
สวย...

วัดชั้นในเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ เข้าได้เฉพาะผู้ที่มาสักการะเท่านั้น นักท่องเที่ยวห้ามเข้า

ครอบครัวชาวบาหลี มาทำบุญสักการะเทพเจ้า

กระทงสี่เหลี่ยม พบเห็นได้ทั่วไปตามทางเดิน ชนิดนี้เป็นเครื่องบูชาภูติผีปีศาจ

วัดตั้งอยู่สุดปลายหน้าผาหินสูงชัน มุมถ่ายรูปมหาชน

อาหารเย็นของวันแรก เป็นอาหารซีฟู๊ดที่ร้าน Pandan Sari Cafe ริมหาด Jimbalan
(Website , Map)

ร้านอาหารริมหาด Jimbalan จะเรียงกันอยู่ในซอยนี้ มีที่จอดรถเป็นสัดส่วนดีครับ

หน้าร้านจะเป็นที่ทำอาหาร อบอวลไปด้วยควัน 
ลูกค้าจะต้องเดินเข้าทางหน้าร้าน ทะลุไปหลังร้านที่เป็นชายหาด

ควันที่เห็นเกิดจากการเผาอาหารทะเลที่หน้าร้านครับ

มาถึงก็มืดเสียแล้ว ก็เลยไม่ได้ชมชายหาด Jinbalan ยามเย็น 
มื้อนี้อาหารเย็นเคล้าแสงเทียน8iy[

ปิดท้ายวันนี้ด้วย Bintang สักหน่อยครับ

เสร็จจากอาหารเย็นแล้ว เราต้องเดินทางต่อไปยังเมืองเดนปาซา ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง วันนี้เราเข้าพักกันที่ Inata Monkey Forest Hotel
(พิกัด -8.514450, 115.260727)  Website , Map

กว่าจะมาถึงโรงแรมก็มืดแล้ว ชาวคณะอ่อนล้าหมดแรงกันไปตามกัน ไม่ได้ถ่ายรูปที่พักไว้เลยครับ ขอเข้าห้องพักก่อนนะครับ แล้วพบกันวันพรุ่งนี้ราตรีสวัสดิ์ครับ ^_^

นายทัศนาจร ออนไลน์