วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

10th Anniversary VFC


เส้นทางแห่งมิตรภาพเล็กๆเส้นหนึ่ง ได้ทอดยาวมาถึง 10 ปีแล้ว นับเป็นเส้นทางที่เหล่าเพื่อนร่วมทางต่างมารวมตัวกันเพียงเพราะรถยนต์ยี่ห้อหนึ่งเท่านั้น ตัวผมเองยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ >>> VFC <<< ครับ

VFC 003



ขอบคุณผู้สร้างสรรค์ อากบ (VFC 039)
ขอบคุณผู้นำมาให้ชม นายกัน (VFC 010)

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แก่งสามพันโบก จ.อุบลราชธานี


31 ธันวาคม 2552

แก่งสามพันโบก ตั้งอยู่ที่บ้านโป่งเป้า ตำบลเหล่างาม อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มเป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวอย่างกว้างขวาง เมื่อโฆษณาของ ท.ท.ท. ชุดพี่เบิร์ด เริ่มออกฉาย สถานที่ท่องเที่ยวซึ่งเป็นฉากหลังของโฆษณาชุดนี้ในช่วงสุดท้าย ก็คือแก่งสามพันโบกนั่นเอง



แก่งสามพันโบกจึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แก่งสามพันโบก เป็นแก่งหินที่อยู่ใต้ลำน้ำโขง ในช่วงฤดูน้ำหลากจะเกิดแรงน้ำวน พาก้อนกรวด หิน ทรายและเศษไม้ กัดเซาะขัดแผ่นหินทรายให้เกิดเป็นหลุม แอ่ง มีขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง จำนวนมากมาย กล่าวกันว่ามากถึง 3,000 แอ่งทีเดียว คำว่า “โบก” เป็นคำในภาษาพื้นเมืองท้องถิ่นมีความหมายเดียวกับคำว่า “แอ่ง” ซึ่งหมายถึง บ่อน้ำลึก จึงเป็นที่มาของชื่อที่เรียกกันว่า “แก่งสามพันโบก” นั่นเอง

แก่งสามพันโบก จะปรากฏให้เห็นเด่นชัดก็ในช่วงฤดูแล้งที่น้ำแห้งขอด แก่งหินจะโผล่พ้นน้ำกลายเป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติสุดอลังการริมลำน้ำโขงที่สวยงามแปลกตา จนชาวบ้านเรียกว่าแกรนแคนยอนเมืองไทยทีเดียว ช่วงเวลาที่จะสัมผัสบรรยากาศแบบนี้ได้ดีที่สุดคงเป็นช่วงเดือนธันวาคม – พฤษภาคม

การเดินทาง ปัจจุบันสะดวกแล้ว สามารถขับรถยนต์เข้าถึงแก่งสามพันโบกได้เลย เข้าถึงได้จริงๆนะครับ สามารถขับรถลงไปจอดบนลานหลินริมแม่น้ำโขงได้เลยครับ

ที่พัก แถวแก่งสามพันโบก มีที่พักที่เป็นรีสอร์ทที่ใกล้ที่สุดอยู่หาดสลึงชื่อ สองคอนรีสอร์ท หาดสลึง โทร 045-338015, 045-260408, 087-2561696 (ที่นี่ผมไม่เคยพัก) หรือหากต้องการกางเต้นท์ ติดต่อครัวสามพันโบก หรือ อ.เรืองประทิน  เขียวสด โทร 081-999-0298 คิดค่ากางเต๊นท์คนละ 35 บาท ต่อคืน หรือจะเช่าเต้นท์เป็นหลักก็มีบริการ บริเวณกางเต้นท์มีห้องอาบน้ำ 4 ห้องสุขา 4 ห้อง มีร้านค้า และร้านอาหาร ไว้บริการด้วย (ผมเคยพักที่นี่)



พิกัดปากทาง แยกโรงเรียนบ้านป่าเป้า : N15.77972 E105.38311
พิกัดแยกเข้าแก่งสามพันโบก : N15.78084 E105.38720
พิกัดครัวสามพันโบก : N15.79121 E105.39950
พิกัดแก่งสามพันโบก : N15.79345 E105.40056

บทความนี้รูปเยอะหน่อยนะครับ


ขอบคุณที่ติดตามชม
ทัศนาจร



















วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ถ้ำจอมพล จังหวัดราชบุรี

21 พฤษภาคม 2554


ถ้ำจอมพลอยู่ในบริเวณสวนรุกขชาติถ้ำจอมพล หมู่ 3 ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี บริเวณหน้าถ้ำมีฝูงลิงอาศัยอยู่จำนวนมาก เดิมมีชื่อว่า ถ้ำมุจลินทร์” ถ้ำแห่งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะในอดีตมีพระมหากษัตริย์ไทยถึง 3 พระองค์ รวมทั้งเชื้อพระวงศ์เคยเสด็จประพาสถ้ำจอมพลมาแล้ว ดังนี้


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จฯพร้อมด้วยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ มาเยือนที่ถ้ำแห่งนี้ เมื่อปีพุทธศักราช 2438 ทรงพอพระทัยในหินงอกหินย้อยและทรงโปรดปราณเป็นพิเศษ โดยเฉพาะ “หินย้อยผาวิจิตร” เพราะมีความงามราวริ้วไหมอินทรธนูบนบ่าจอมพล จึงพระราชทานนามถ้ำใหม่ว่า “ถ้ำจอมพล”


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เคยเสด็จฯถ้ำจอมพลนี้ ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2457 พระองค์ได้นำพลเสือป่ามาซ้อมรบ ณ บริเวณนี้ และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2457 ในคราวเสด็จฯวางศิลาฤกษ์โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช อ.จอมบึง จ.ราชบุรี


ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ มาประพาสที่ถ้ำจอมพลเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2499 พร้อมทั้งได้ทรงปลูกต้นสัก กัลปพฤกษ์ และต้นนนทรีไว้เป็นที่ระลึก พระองค์ทรงสลักสัญลักษณ์พระปรมาภิไธย ภปร.99 ไว้บนหินผาบริเวณปากทางเข้าถ้ำ


เข้าถ้ำจอมพลต้องเดินขึ้นบันไดประมาณ 50 ขั้น ภายในถ้ำมีพื้นที่รวมประมาณ 178 ไร่ ความกว้างประมาณ 30 เมตร ยาวประมาณ 240 เมตร และสูงเฉลี่ย 25 เมตร เป็นถ้ำที่มีหินงอกหินย้อยวิจิตรงดงามชวนชมอยู่หลายแห่ง มีหินงอกหินย้อยที่มีความสวยงาม ด้านในสุดของถ้ำเป็นห้องโถงที่มีเพดานถ้ำทะลุเป็นช่องกว้าง มีแสงสว่างสอดส่องลงมากระทบเนินที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลาและพระพุทธรูปปางไสยาสน์อีกด้วย










พิกัดถ้ำจอมพล : N13.62577 E99.58751

ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
ทัศนาจร



วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ร้านแมกไม้ชายเลน

2 พฤษภาคม 2554






การเดินทาง  
-จากกรุงเทพฯ ใช้ถนนพระราม 2 มุ่งหน้าลงใต้ไปจังหวัดสมุทรสาคร จุดสังเกตุสะพานแม่น้ำท่าจีน
-นับจากสะพานแม่น้ำท่าจีน ไปอีก 13.8 กิโลเมตร ถึงศูนย์โอทอปจังหวัดสมุทรสาครทางซ้าย ให้ลดความเร็ว เตรียมออกทางคู่ขนานทางซ้าย
-นับจากศูย์โอทอปฯ ไปอีก 1.7 กิโลเมตรถึงจุดออกทางขนาน
-ออกทางขนานแล้วขับตรงต่อไปเพื่อกลับรถใต้สะพานข้ามทางรถไฟสายบ้านแหลม-แม่กลอง
-กลับรถใต้สะพาน แล้วเลี้ยวซ้ายแรกถนนแรก เป็นปากทางเข้าร้าน
-นับจากปากทางเข้าร้านไปอีก 2 กิโลเมตร ถึงปากซอยร้าน
-เลี้ยวเข้าไปเพียง 150 เมตรก็ถึงร้านครับ





ร้านนี้เพื่อนที่ทำงานแนะนำมา บอกว่าเป็นร้านที่ขายอาหารทะเลราคาเป็นย่อมเยา โดยเฉพาะปูเนื้อจานละ (2 ตัว) 150 บาทเท่านั้น (ราคาพอสมควรแก่เหตุนะครับ อย่าไปคาดหวังว่าก้ามจะใหญ่เท่ากำปั้น)  ฟังแล้วเกิดความสนใจขึ้นมาทันที ได้จังหวะจึงไม่รอช้า มุ่งหน้าสมุทรสาครทันที





ขับรถไม่นานก็ถึง เส้นทางไม่ซับซ้อน แต่ให้ระวังเลยทางออกทางขนาน ไม่งั้นละก็ต้องไปกลับรถไกลโขทีเดียว



ร้านปรับปรุงใหม่แล้ว เดิมทีเป็นหลังคามุงจาก ได้ยินว่าเกิดเหตุไฟใหม้ เลยได้โอกาสปรับปรุงร้านใหม่หมด มีซุ้มกลางน้ำให้นั่งด้วยครับ น่าจะเหมาะกับมื้อเย็น




ตั้งโต๊ะไม่แออัด นั่งสบายดีครับ 



เมนูแรกปูเนื้อนึ่ง จานนี้ราคา 150 บาท ตัวไม่ใหญ่ยักษ์ แต่สด




ถ้าท่านสั่งปูนึ่ง ท่านจะได้อุปกรณ์ชุดนี้มาด้วย (ให้ใช้ที่ร้าน ห้ามนำกลับบ้านนะครับ...)


ปูเนื้อผัดพริกไทยดำ




ปลากระพงทอดน้ำปลา



หลนปูไข่ (เมนูนี้ผมชอบที่สุด!!!)


ปลาหมึกผัดไข่เค็ม



ปิดท้ายด้วย ไอศครีมโฮมเมด (โฮมคนอื่นนะครับ ไม่ได้ทำที่ร้านนี้) ลองไปชิมดูนะครับ ได้ความว่าอย่างไรกลับมาเล่าให้ฟังกันบ้างนะครับ



พิกัดศูนย์โอทอปจังหวัดสมุทรสาคร : N13.50610 E100.12927
พิกัดทางออกทางคู่ขนาน (ทล.35: N13.49261 E100.12320
พิกัดปากทางเข้าร้าน : N13.48983 E100.12180
พิกัดปากซอยเข้าร้าน : N13.49769 E100.11010 

ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
ทัศนาจร



วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เต่าทะเล หมู่เกาะสิมิลัน


22 เมษายน 2551


เต่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่ได้กำเนิดขึ้นในโลกมากกว่า 200 ล้านปี โดยได้ปรับตัวเองให้อาศัยอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี เต่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีบรรพบุรุษเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำพวกแรกในวงศ์สัตว์มีกระดูกสันหลังที่อาศัยได้ทั้งบนบกและในน้ำ ปัจจุบันเต่า มีอยู่ประมาณ 210 ชนิด จากจำนวนสัตว์เลื้อยคลานทั้งสิ้น 6,000 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานที่อาศัยอยู่ในท้องทะเลมีอยู่เพียงสองชนิด คือ เต่าทะเล และงูทะเล

เต่าทะเลปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 2 ตระกูล พวกแรกคือ ตระกูล DERMOCHELYIDAE ซึ่งมีเต่ามะเฟือง (leatherbaok : Dermochelys coriacea) เหลืออยู่เพียงชนิดเดียว อีกตระกูลที่เหลือ คือ CHELONINI คือ เต่าตนุ (Green turtle : Chelonia myfa) เต่าหลังแบน (flatbaok turtle : Chelonia depressa) เต่ากระ (Hawksbill : Eretmochelya imbricata) ในตระกูลนี้ ยังแบ่งออกเป็นตระกูลย่อยเรียกว่า CARETTINI อีก 3 ชนิด คือ เต่าหัวฆ้อน (loggerhead turtle : Caretta caretta) เต่าหญ้าหรือเต่าสังกะสี (Olive ridley : Lepidochelys olivacea) และ Kemp's ridley turtle (Lepidochelys kempi) รวมทั้งสิ้นเป็น 7 ชนิด แต่นักวิทยาศาสตร์ได้แยกเต่าตะนุออกมาเป็นอีกชนิด คือ East Pacific Green turtle (Chelonia agassisi) ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ปัจจุบันในโลกนี้มีเต่าทะเลเหลืออยู่เพียง 8 ชนิดเท่านั้น ส่วนในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่อนุรักษ์พบเต่าทะเลเพียง 4 ชนิด เท่านั้น คือ เต่ามะเฟือง เต่าตะนุ เต่ากระ และเต่าหญ้า

ชนิดของเต่าทะเลในประเทศไทย
1.เต่ามะเฟือง (LEATHERBACK SEA TURTLE) ชื่อวิทยาศาสตร์ Dermochelys coriacea มีกระดองนุ่มเหมือนหนัง ขนาด 150-180 เซนติเมตร (60-70 นิ้ว) น้ำหนัก 300 ถึง 600 กิโลกรัม (700-1,300 ปอนด์) บนกระดองมีสันแนว 5 เส้น ที่แตกต่างจาก เต่าทะเลชนิดอื่น คือ ว่ายน้ำได้เป็นระยะทางไกลนับพันกิโลเมตร มีจุดสีขาวหรือสีน้ำตาลบนกระดองสีดำหรือน้ำตาลเข้ม พายหน้าไม่มีเล็บ อาหารส่วนใหญ่เป็นพวกแมงกระพรุนหรือสาหร่าย การที่มีกระดูกหน้าอกยาวทำให้ดักแมงกระพรุนเพื่อจับเป็นอาหารได้ง่าย แหล่งที่พบมากคือบริเวณหาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา และหาดไม้ขาวจังหวัดภูเก็ต

2.เต่าตะนุ (GREEN SEA TURTLE) ชื่อวิทยาศาสตร์ Chelonia mydas เมื่อโตเต็มที่วัดกระดองได้ 90-100 เซนติเมตร (35-43 นิ้ว) น้ำหนักประมาณ 110-180 กิโลเมตร (250-400 ปอนด์) บริเวณพายมีเล็กแหลม กระดองเป็นเกล็ดเรียงกันมีสีน้ำตาลโอลีพหรือสีดำ ส่วนใต้ท้องกระดองมีสีเหลืองหรือสีครีมอ่อน เต่าตะนุเป็นเต่าทะเลกระดองแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สด กินพืชเป็นอาหาร โดยเฉพาะพวกสาหร่าย หรือหญ้าทะเล

3.เต่ากระหรือกระ (HAWKSBILL SEA TURTLE) ชื่อวิทยาศาสตร์ Eretmocheiys imbricata กระดองเมื่อโตเต็มที่วัดได้ 70-90 เซนติเมตร (28-36 นิ้ว) มีน้ำหนักประมาณ 35-65 กิโลเมตร (80-140 ปอนด์) ลักษณะพิเศษ คือ ปากมีจะงอยเหมือนปากเหยี่ยว มีเล็บที่พายคู่หน้า 4 อัน และมีเกล็ดคู่หน้าสองคู่ เกล็ดซ้อนทับกันมีสีเหลือง น้ำตาล และดำอย่างสวยงาม อาหารเป็นพวกสาหร่าย หญ้าทะเล เพรียง และปลา ที่ชอบมากคือฟองน้ำทะเลและหอยเม่น พบมากบริเวณแนวปะการัง

4.เต้าหญ้าหรือเต่าสังกะสี (OLIVE RIDLEY SEA TURTLE) ชื่อวิทยาศาสตร์ Lepidochelys loiyacea มีขนาดเล็กที่สุด อาศัยตามบริเวณชายฝั่งทะเล เมื่อโตเต็มที่กระดองมีขนาดประมาณ 60-70 เซนติเมตร (23-26 นิ้ว) น้ำหนัก 35-40 กิโลกรัม (80-90 ปอนด์) กระดองสีน้ำตาลโอลิพ เรียงกันคล้ายสังกะสี ส่วนท้องสีเลืองออกขาว อาหารกินได้ทั้งพืชและสัตว์ เช่น กุ้ง ปลา แมงกระพรุน ปู หอย สาหร่าย และหญ้าทะเล

การอนุรักษ์เต่าทะเลนั้น ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีบุคคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมและเข้าใจอย่างถ้วนถี่ในเรื่องของชีววิทยาและนิเวศวิทยา ของเต่าทะเล ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีโครงการอนุรักษ์เต่าทะเลหลายโครงการที่ดำเนินการด้วยความตั้งใจดี แต่ยังขาดความรู้ที่ถูกต้อง จนทำให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี จากการที่ปริมาณของเต่าทะเลได้ลดน้อยลงจนถึงจุดวิกฤต โดยเฉพาะเต่ามะเฟืองซึ่งไม่สามารถที่จะนำมาเลี้ยงได้ มีแนวโน้มว่าจะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย เนื่องจากหาดที่ขึ้นมาว่างไข่ถูกรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ บริเวณที่พบมากในอดีตคือที่หาดไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต และหาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา แต่ปัจจุบันนี้ปรากฏว่า หาดไม้ขาวได้มีการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ เช่น ท่าอากาศยาน การเพาะเลี้ยง ลูกกุ้ง เป็นต้น จนสภาพสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติไม่หลงเหลือ ดังนั้นผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ผู้เกี่ยวข้อง และองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันดูแลรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยของเต่าทะเล ไม่เพียงแต่บริเวณหาดทรายที่เต่าทะเลตัวเมียขึ้นมาวางไข่เท่านั้น ที่ควรจะได้รับการพิทักษ์ปกป้อง แต่จะต้องดูแล รักษา ระบบนิเวศทั้งระบบ ทั้งนี้เพราะเต่าทะเลใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในท้องทะเลเปิดนอกชายฝั่ง ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งมลพิษและอันตรายอื่น ๆ อันเป็นสาเหตุให้เต่าทะเลลดจำนวนลงมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์


พิกัดศูนย์บริการ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน  (เกาะเมี่ยง-เกาะสี่) : N8.57070 E97.63705
รวบรวมโดย สุเทพ บุญประคอง  >>>คลิก<<<

ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
ทัศนาจร




วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วนอุทยานพนมสวาย จังหวัดสุรินทร์

21 กุมภาพันธ์ 2554


ตั้งอยู่ในพื้นที่ 2 ตำบลคือ ตำบลนาบัว ตำบลสวาย มีเนื้อที่ 1,975 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาสวายท้องที่ตำบลนาบัว อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ "พนมสวาย" เป็นคำภาษาพื้นที่เมืองสุรินทร์ "พนม" แปลว่าภูเขา "สวาย" แปลว่า "มะม่วง" ในหมู่พนมสวายประกอบด้วยภูเขา 3 ลูกติดต่อกันซึ่งมีมีชื่อพื้นเมืองเรียกแตกต่างกันไป ได้แก่

"พนมกรอล" แปลว่า "เขาคอก" มีความสูงประมาณ 150 เมตร เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธสุรินทรมงคล
"พนมเปร๊า แปลว่า "เขาชาย" มีความสูงประมาณ 220 เมตร เป็นที่ตั้ง วัดพนมศิลาราม
"พนมสรัย" แปลว่า "เขาหญิง" มีความสูงประมาณ 210 เมตร สถูปอัฐิพระราชวุฒาจารย์ (ดูลย์ อตุโล)

รวมกันทั้ง 3 ลูก มีชื่อว่า เขาพนมสวาย ความจริงพนมสวายคือ ภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว จึงมีลานหินกระจายทั่วไป เนื่องจากวนอุทยานพนมสวายได้สำรวจทั่วบริเวณวนอุทยานพบว่า มีต้นกล้วยไม้ป่าอยู่เป็นจำนวนมาก ทางวนอุทยานได้จัดต้นกล้วยไม้ป่ามาติดไว้ตามต้นไม้ต่างๆ ริมถนน ริมลานจอดรถบ้าง วนอุทยานพนมสวายถือว่าเป็นวนอุทยานเฉลิมพระเกียรติแห่งหนึ่งในประเทศไทย และเป็นสถานที่แสวงบุญของชาวไทยที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เขตอุทยานพนมสวาย เขาพนมสวาย เป็นภูเขาที่โผล่ขึ้นมาโดดๆบนที่ราบทำนาของจังหวัดสุรินทร์



พระพุทธสุรินทรมงคล

เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร ตั้งอยู่ในวนอุทยานพนมสวาย เขาชาย จังหวัดสุรินทร์ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก มีหน้าตักกว้าง 15 เมตร สูง 25 เมตร การสร้างพระพุทธรูปเริ่มในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2518 แลัวเสร็จในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2520 ต่อมาใน พ.ศ.2523 ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ได้ขอพระราชทานชื่อพระพุทธรูป พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงพระราชทานว่า "พระพุทธสุรินทรมงคล" ต่อมาใน พ.ศ.2527 จึงมีพิธีเบิกพระเนตรพระพุทธสุรินทรมงคล และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุไว้ ณ พระนาภี



บันไดระฆังพันใบ
เป็นบันไดขึ้นสู่พระพุทธสุรินทรมงคล สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2550 ตามโครงการ "ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2550" นายพูนศักดิ์ ประณุทนรพาล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ และคณะสงฆ์จังหวัดสุรินทร์ ร่วมกันจัดหาระฆัง 1,080 ใบ จากวัดทั้งหมดในจังหวัดสุรินทร์ 1,070 วัด และวัดสำคัญในกรุงเทพมหานคร อีก 10 วัด มาติดตั้ง จึงเป็นที่มาของชื่อบันไดระฆังพันใบ




สถูปอัฐิพระราชวุฒาจารย์ (ดูลย์ อตุโล)
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล (วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์) เกิดในสกุลเกษมสินธ์ เมื่อวันที่  4 ตุลาคม พ.ศ.2431 ที่ ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ได้อุปสมบท ณ วัดจุมพลสุทธาวาส อ.เมือง จ.สุรินทร์ เมื่อ พ.ศ.2453 โดยมีพระครูวิมลศีลพรต เป็นพระอุปัชฌาย์ มีสมณศักดิ์ พระราชวุฒาจารย์ มรณภาพเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2526 อายุ 96 ปี 74 พรรษา

เมื่อแรกบวช หลวงปู่ได้พากเพียรศึกษาการปฏิบัติกรรมฐานอย่างเคร่งครัด มีความวิริยะ อุตสาหะอย่างแรงกล้า จนล่วงเข้าพรรษาที่ 6 หลวงปู่จึงหันมาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดสุทัศน์ จ.อุบลราชธานี สอบได้นักธรรมชั้นตรีเป็นรุ่นแรกของจังหวัดอุบลราชธานี และได้ศึกษาบาลีไวยากรณ์ (มูลกัจจายน์) จนสามารถแปลพระธรรมบทได้ เนื่องจากวัดสุทัศน์ เป็นวัดที่อยู่ในสังกัดธรรมยุตินิกาย หลวงปู่จึงได้ขอญัตติเป็นธรรมยุตินิกายใน พ.ศ.2461 ณ วัดสุทัศน์ โดยมีพระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์ และในพรรษาต่อมาหลวงปู่ได้มีโอกาสพบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เมื่อได้ฟังธรรมเพียงครั้งเดียวจากพระอาจารย์มั่น ก็เกิดความอัศจรรย์ใจยิ่ง จึงได้เลิกศึกษาพระปริยัติแล้วออกธุดงค์ตามพระอาจารย์มั่น ไปยังที่ต่างๆ หลายแห่ง จึงนับได้ว่าหลวงปู่เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นในสมัยแรก ต่อมาเจ้าคณะมณฑลนครราชสีมาขอให้หลวงปู่กลับ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อบูรณะวัดบูรพาราม หลวงปู่จึงจำต้องระงับกิจธุดงค์และเริ่มงานบูรณะตามที่ได้รับมอบหมาย หลวงปู่ได้อุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนาอย่างแท้จริง จนได้รับการยอมรับจากสาธุชนทั้งหลายว่าเป็นอริยสงฆ์ที่หาได้ยากยิ่งองค์หนึ่ง


พิกัด : N14.76282 E103.37435


ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
ทัศนาจร


ขอบคุณข้อมูล หลวงปู่ดูลย์ อตุโล  จากธรรมะไทย