วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง

อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง
ภูมิปัญญาแห่งล้านนา

"อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง" หรือ "ไร่แม่ฟ้าหลวง" ตั้งอยู่เลขที่ 313 หมู่ 7 บ้านป่างิ้ว ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ 053-716-605 โทรสาร 053-712-429 mfl@doitung.org  www.maefahluang.org  พิกัดทางเข้า : N19.90771 E99.79600 สถานที่แห่งนี้อาจทำให้ท่านสับสนกับ "สวนแม่ฟ้าหลวง" ที่ตั้งอยูที่ พระตำหนักดอยตุง อำเภอแม่ฟ้าหลวง นะครับ ขอเรียนว่าเป็นคนและแห่งกันครับ

อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง เริ่มต้นจากที่ดินหัวไร่ปลายนาธรรมดาผื่นหนึ่งในย่านชานเมืองจังหวัดเชียงราย แต่ด้วยพระบารมีของแม่ฟ้าหลวงและความร่วมมือร่วมใจของบุคคลต่าง ๆ หลายหน่วยหลายฝ่ายเพื่อตอบแทนพระเมตตากรุณาของพระองค์ท่าน สถานที่แห่งนี้จึงได้รับการพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของภาคเหนือ และได้รับรางวัล Thailand Tourism Award 2006 ประเภทรางวัลดีเด่นด้านแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปะวัฒนธรรม

อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง เป็นสถานที่สงบ สวย สง่างาม ภูมิทัศน์ชอุ่มเขียวด้วยสนามหญ้าและสระน้ำใหญ่ ร่มรื่นด้วยต้นไม้จากภาคต่าง ๆ ของประเทศ และต้นลีลาวดีขนาดใหญ่นับร้อย กลางอุทยานเป็นที่ประดิษฐานพระรูปปูนปั้นของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประทับบนโขดหินให้ผู้มาเยือนได้สักการะ มีอาคารหลากหลายในแบบสถาปัตยกรรมล้านนาที่งดงาม เป็นที่เก็บรักษางานพุทธศิลป์เก่าแก่ โบราณวัตถุอายุนับศตวรรษ ศิลปะวัตถุสร้างสรรค์จากไม้สัก บรรยากาศในอุทยานรื่นรมย์ สร้างความสดชื่น เจริญใจ

หอคำ
สถาปัตยกรรมล้านนาที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวัดปงสนุก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง รูปทรงอาคารสอบเข้าตามลักษณะเรือนล้านนาโบราณ หลับคาแป้นเกล็ด เป็นแผ่นไม้สักกว้างประมาณ 4 นิ้ว วางซ้อนเหลือมแทนแผ่นกระเบื้อง ลวดลายประดับได้มาจากจังหวัดอุตรดิตถ์ ช่างพื้นบ้านผู้ก่อสร้างจากจังหวัดเชียงรายและแพร่ ช่างแกะสลักจากเชียงใหม่และลำพูน ไม้นานาชนิดที่ใช้ก่อสร้างมาจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) รวมกับไม้จากบ้านเก่า 32 หลัง ในจังหวัดเชียงราย ชาวเชียงรายร่วมใจสร้างหอคำแห่งนี้ถวายเป็นเครื่องไหว้สาแม่ฟ้าหลวง ในโอกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เจริญพระชนมายุ 84 พรรษา เมื่อปี พ.ศ.2527 (ค.ศ.1984)

ภายในหอคำแม่ฟ้าหลวง ประดิษฐานพระพร้าโต้ บนแท่นซึ่งเปรียบเสมือนยอดเขาพระสุเมรุ หอคำยังเป็นที่รวมศิลปะวัตถุงานพุทธศิลป์ มีทั้งพระพุทธรูปแบบล้านนา พม่า และเครื่องไม้แกะสลักที่ใช้ในการพระศาสนา เช่น สัตภัณฑ์ (เชิงเทียนไม้ประดับลวดลาย) ตุงกระด้าง (ตุงหรือธงไม้แกะสลัก) ขันดอก (ภาชนะใส่ดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระ) บรรยากาศภายในหอคำแม่ฟ้าหลวง ขรึม ขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยแสงเทียนและความงดงามของศิลปะวัตถุอันล้ำค่า

หอคำน้อย
อาคารศิลาแลงหลังคาแป้นเกล็ดไม้สัก เก็บรักษาภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนสีฝุ่นบนกระดานไม้สัก จากวัดเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่ สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในช่วงรัชการที่ 5 ช่างเขียนเป็นชาวไทลื้อจากเชียงตุง แสดงความเป็นอยู่ พิธีกรรม การแต่งกาย และวัฒนธรรมล้านนาเมื่อร้อยปีก่อน เช่น การแอ่วสาว การคลอดลูก ประเพณีการแข่งเรือ เป็นภาพยุคใกล้เคียงกับจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ซึ่งเขียนสีบนผนังปูน ภาพเขียนสีฝุ่นบนพื้นไม้สักในหอคำน้อย จิตรกรรมโบราณเป็นสมบัติล้ำค่า ที่หลงเหลืออยู่เป็นส่วนน้อยได้นำมาเก็บรักษาไว้ ณ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง

หอแก้ว
เป็นอาคารจัดแสดงนิทัศการถาวรเกี่ยวกับไม้สัก และนิทรรศการชั่วคราวอื่น ๆ ที่หมุนเวียนกันไป นิทรรศการเกี่ยวกับไม้สักแสดงให้เห็นถึงความผูกพันอันแนบแน่นของชาวเหนือที่มีต่อไม้สักในหลายมิติ เป็นเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงงานศิลปะอันวิจิตรต่างๆ ที่นำมาใช้ในการพระศาสนา เริ่มจากตัวอาคารของวัดวาอาราม เครื่องตกแต่ง และเครื่องใช้ในพิธีกรรมต่างๆ จึงถึงองค์พระพุทธรูป

ศาลาแก้ว
ศาลาริมน้ำทรงล้านนา เป็นอาคารอเนกประสงค์ที่โอบล้อมด้วยน้ำ ฟ้า และธรรมชาติเขียวชอุ่มสบายตา

ขอขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร ออนไลน์

ทางเข้าไร่แม่ฟ้าหลวง

หอคำระยะไกล

หอแก้ว

หอแก้ว

โครงหลังคาพระอุโบสถ

โครงหลังคาพระอุโบสถ

สมเด็จย่า แม่ฟ้าหลวง

นิทรรศนาการไม้สัก

ความรู้เรื่องวงปีของไม้สัก

ศิลปะจากไม้

งานศิลปะ

รถม้าที่ทำจากไม้สัก

เครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้

ศิลปะไม้แกะสลัก

ตั้งแสดงให้ชมได้อย่างใกล้ชิด

ของเครื่องใช้ไม้ในห้องนอน

พระเจ้าไม้

พระพุทธรูปไทยใหญ่

ช่อฟ้า

นิทรรศการภาพถ่าย ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

หอคำด้านหลัง

สัตภัณฑ์

ศาลาริมน้ำหน้าหอคำ

หอคำ

ทางขึ้นหอคำ (ด้านในห้ามถ่ายภาพ)

คำขอขมา

วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พระโพธิสัตว์กวนอิม หาดใหญ่

16 พฤษภาคม 2553

ช่วงนี้อยู่ในเทศกาลกินเจพอดี คงไม่ช้าเกินไปนักที่บันทึกหน้านี้จะชวนท่านไปชมพระโพธิสัตว์กวนอิม ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาคอหงส์ สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พระโพธิสัตว์กวนอิมปางประทานพรองค์นี้สร้างด้วยหินหยกสีขาว เทศบาลนครหาดใหญ่ โดยนายเคร่ง สุวรรณวงศ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ พร้อมด้วยคณะเทศมนตรี ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน รวมทั้งสมาคมมูลนิธิหาดใหญ่ ทั้ง 13 สมาคม ร่วมใจสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 เนื่องในอภิลักขิตมงคลสมัยที่ครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระโพธิสัตว์กวนอิมแกะสลักโดยช่างชาวจีน มณฑลเห่ยเป่ย ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งองค์แบ่งเป็นหินหยกขาว จำนวน 8 ท่อน ขนาดความสูง 9.9 เมตร น้ำหนักโดยรวมประมาณ 80 ตัน นำขึ้นประดิษฐานบนเขาคอหงส์ ภายในสวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

ทำพิธีมหาพุทธาภิเษกและสมโภชเป็นเวลา 3 วัน เมื่อวันพุธ ที่ 7 เมษายน 2540 เริ่มต้นด้วยพิธีจีน นำโดยพระคณาจารย์จีนธรรสมาธิวัตร (เย็นเต็ก) เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายจีน พิธีพุทธนำโดยสมเด็จพุทธาจารย์ (เกี่ยว) วัดสระเกศ เป็นองค์ประธานจุดเทียนชัย พร้อมพระเกจิกาอาจารย์ชื่อดังทั่วประเทศว่า 200 องค์ ร่วมนั่งปรกอธิฐานจิต ในวันศุกร์ที่ 9 เมษายน 2540 สมเด็จพระญานสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ได้ถวายให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นองค์ประธานดับเทียนชัยและทำพิธีเปิดผ้าแพรคลุมองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม เวลา 15.39 น. และก่อนเวลาที่จะทำพิธีดับเทียนชัย ฝนได้ตกลงอย่างหนักพอเสร็จพิธีกรรมทางสงฆ์ฝนได้หยุดตกอย่างเป็นที่อัศจรรย์ ภายใต้ที่ประดิษฐานองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม จัดทำเป็นห้องโถง 8 เหลี่ยม ประดิษฐานรูปปั้นของเซียนประจำแปดทิศทั้ง 8 องค์ เช่น ท้าววิรุฬหก ท้าววิรุฬปักษี ท้าวกุเวร ตรงกลางของห้องโถงจัดทำเป็นเสาขนาดใหญ่ ซึ่งมีองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมปางประทานพรขนาดความสูงประมาณ 19.9 นิ้ว เป็นจำนวนมากถึง 900 องค์ วางอยู่รอบเสา

หากขับรถขึ้นเขาต่อไปอีกท่านก็จะพบ องค์พระพุทธมงคลมหาราช ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เทศบาลนครหาดใหญ่ สร้างขึ้นในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมเฉลิมพระเกียรติ และถวายเป็นราชสักการะแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นสิริมงคลแก่พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป พุทธลักษณะของพระพุทธมงคลมหาราช เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร โดยนำพุทธลักษณะพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวาร หรือพระประจำวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแบบ หล่อด้วยทองเหลืองบริสุทธิ์และถือว่าเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ สูง 19.90 เมตร รวมฐานสูง 25 เมตร น้ำหนัก ประมาณ 200 ตัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระนามพระพุทธรูปว่า "พระพุทธมงคลมหาราช" และมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ประดิษฐาน ณ ฐานพระพุทธมงคลมหาราช

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2541 ได้มีการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ฐานพระพุทธรูป บนยอดเขาคอหงส์ วันที่ 10 สิงหาคม 2543 พิธีเททองหล่อพระเกตุมาลา โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานในพิธี และในปี 2544 ได้มีการยกชิ้นส่วนต่างๆ ขึ้นประกอบเป็นองค์พระพุทธมงคลมหาราช ณ บริเวณเขาคอหงส์ สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ การดำเนินการจัดสร้างพระพุทธรูปประจำนครหาดใหญ่ในครั้งนั้น ใช้งบประมาณ ทั้งสิ้น 50 ล้านบาท รวมทั้งจัดซื้อที่ดินซึ่งประกอบด้วยภูเขาและภูมิทัศน์ที่ร่มรื่นสวยงาม ในเนื้อที่กว่า 100 ไร่

พิกัดทางเข้าสวนสาธารณะหาดใหญ่ : N7.03918 E100.50317
พิกัดองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม : N7.04018 E100.50867
พิกัดพระพุทธมงคลมหาราช : N7.04079 E100.51070

ขอขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร ออนไลน์










วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

โบราณสถานเมืองเพนียด

14 เมษายน 2554


บันทึกการเดินทางหน้านี้ผมชวนไปเที่ยวชมของโบราณที่ชื่อว่า "โบราณสถานเมืองเพนียด"  เป็นเมืองโบราณมีชื่อปรากฏในพงศาวดารมาแต่แรกสร้างกรุงศรีอยุธยา จากการสำรวจพบซากเมืองเก่าเมืองจันทบุรีอยู่ 2 แห่ง แห่งแรกตั้งอยู่ในตำบลตลาดจันทบุรีตะวันออก ซึ่งยังมีคูเมืองและเชิงเทินพอสังเกตได้ ส่วนอีกแห่งตั้งอยู่ในตำบลคลองนารายณ์ ชาวบ้านเรียกว่า "เมืองเพนียด" หรือ เมืองกาไวมีผู้ขุดพบศิลาจารึกที่วัดเพนียด ซึ่งเป็นวัดโบราณอยู่ทางทิศใต้ของกำแพงเมือง 400 เมตร


โบราณสถานเมืองเพนียด ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ห่างจากวัดทองทั่วประมาณ 300 เมตร โดยกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 ระบุไว้ว่ามีสิ่งสำคัญคือ กำแพงก่อด้วยศิลาแลง ด้านกว้าง 16 เมตร ด้านยาว 26 เมตร สูง 3 เมตร


สถานที่แห่งนี้สันนิษฐานว่าเดิมเป็นที่ตั้งเมืองจันทบุรียุคแรก มีอายุไม่น้อยกว่า 1,000 ปี การสำรวจสภาพของโบราณสถานเมืองเพนียด เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2499 ได้ความว่า เพนียดเป็นกำแพงก่อสร้างด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในกำแพงเป็นดินกว้างด้านละ 17 เมตร ยาวด้านละ 57 เมตร หนา 3 เมตรเท่ากันทุกด้าน แต่กำแพงด้านตะวันออกถูกทำลายไปหมดแล้วเหลือแต่ดินสูงเป็นเค้าอยู่  อีก 3 ด้านก็ถูกทำลายไปมาก เหลือสูงเพียง 1 เมตร ถึง 3 เมตร ด้านนอกของกำแพงพอกด้วยดินหนาประมาณ 3 เมตร ถึง 8 เมตร โบราณสถานเมืองเพนียดมี 2 แห่ง อีกแห่งหนึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 30 เมตร แต่หลังนี้ถูกทำลายโดยการรื้อขนเอาศิลาแลงไปจนหมดสิ้นแล้ว เหลือให้เห็นมูลดินสูงเป็นแนวอยู่ซึ่งหากไม่ได้รับการบอกเล่าจากชาวบ้านแถบนั้นก็ไม่ทราบว่า คือ เพนียดโบราณ



บริเวณเมืองเพนียดมีเค้าถนนโบราณหลายสาย มีซากสิ่งก่อสร้างปรักหักพังอยู่ทั่วไป เช่น อิฐโบราณ ศิลาแลง เศษถ้วยชามโบราณ เป็นต้น โบราณวัตถุที่ขุดพบเป็นหินทรายแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ มีเหลืออยู่ที่วัดทองทั่วก็หลายชิ้น บางชิ้นถูกนำไปไว้ที่อื่น เช่น ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกรุงเทพมหานคร


โบราณสถานเมืองเพนียด ตั้งอยู่ไม่ไกลกับวัดทองทั่ว ตำบลคลองนารายณ์ อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีพระพุทธสุวรรณมงคล ศากยมุนีศรีสรรเพ็ชญ์ (หลวงพ่อทอง) ประดิษฐานอยู่ หลวงพ่อทองเป็นพระพุทธรูปที่มีอายุเก่าแก่คู่มากับพระอุโบสถเดิม ตามหลักฐานวัดทองทั่วได้ตั้งวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2310 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2318 แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าหลวงพ่อทองสร้างขึ้นในช่วง พ.ศ.ใด แต่คงต้องอยู่ในระหว่าง 8 ปีนี้ เพราะจะต้องสร้างพระอุโบสถเรียบร้อยแล้วจึงจะขอพระราชทานวิสุงคามสีมาได้


ภายในวัดทองทั่วมีการจัดแสดงวัตถุโบราณ และมีทับหลังอยู่ชิ้นหนึ่งเป็นที่น่าสนใจมาก คือ ทับหลังแบบถาราบริวัต (ถาลาบริวัต) ซึ่งมีอายุอยู่ในราว พ.ศ.1150 นางมิเรย เบนิสตี (Mireille Benisti) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศษล่าวถึงทับหลังแบบถาลาบริวัต (Thala Borivat) ว่าเป็นทับหลังที่เก่าแก่ที่สุดของศิลปขอมในราวกลาง พุทธศตวรรษที่ 12 ซึ่งค้นพบทับหลังศิลา 6 ชิ้น ที่ถาลาบริวัต บริเวณฝั่งขวาของแม่โขง และพบที่ปราสาทขตป (Khtop) 2 ชิ้น  นางเบนิสตี เห็นว่าทับหลังซึ่งค้นพบที่ถาลาบริวัตเก่ากว่าที่สมโบร์ไพรกุก และถาลาบริวัตอาจเป็นสถานที่ตั้งของเมืองภวปุระของพระเจ้าภรวรมัน  สำหรับทับหลัง 2 ชิ้น ซึ่งค้นพบที่ปราสาทขตปนั้น นางเบนิสตีเห็นว่าคงสลักขึ้นในปลายศิลปแบบสมโบร์ไพรกุก ราว พ.ศ. 1200  


ในประเทศไทยได้ค้นพบทับหลังแบบถาลาบริวัต 4 ชิ้นที่วัดทองทั่ว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งนับว่าเป็นทับหลังขอมแบบถาลาบริวัตอย่างแท้จริง นอกจากนั้น ยังได้ค้นพบศิลาจารึกขอมในพุทธศตวรรษที่ 12 หลักหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงการสร้างศาสนสถานของพระเจ้าอีศานวรมันที่ 1 พร้อมกันนี้ยังมีทับหลังอีกชิ้นหนึ่งซึ่งรักษาอยู่หน้าอุโบสถวัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี อาจกล่าวได้ว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างศิลปขอมแบบ ถาลาบริวัตและสมโบร์ไพรกุก และอาจสลักขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 1150.




พิกัดทางเข้าโบราณสถานเมืองเพนียด - N12.58595 E102.14281
พิกัดโบราณสถานเมืองเพนียด - N12.58586 E102.14422
พิกัดวัดทองทั่ว - N12.58763 E102.14260

ขอขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร ออนไลน์


วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

ลาวใต้

สวัสดีครับ บันทึกการเดินทางของผมในครั้งนี้เป็นครั้งพิเศษสำหรับผมแต่ไม่ได้แปลกใหม่อะไร นักเดินทางทั่วสารทิศได้ไปเยี่ยมเยือนมามากแล้ว นั้นคือการท่องเที่ยวใน สปป.ลาว หลายๆท่านคงเคยได้ยินคำว่า “มหานทีสี่พันดอน” ซึ่งมีความหมายว่า “เกาะแก่งจำนวนมากมายจนนับไม่ถ้วนที่ทอดยาวอยู่ตามลำน้ำโขง” สถานที่ดังกล่าวตั้งอยู่ที่แขวงจำปาสัก ทางภาคใต้ของ สปป.ลาว อันเป็นปฐมเหตุให้เกิดทริปลาวใต้ของผมในครั้งนั้น ทริปนี้ผมเดินทางไปเมื่อวันที่ 26 29 ธันวาคม 2552 แต่เพิ่งจะได้มีโอกาสนำมาบันทึกไว้ วันนี้อาจไม่เป็นประโยชน์มากนัก แต่ก็ภูมิใจนำเสนอ "ลาวใต้" ครับ

ทริปลาวใต้ของผม สมาชิกในทริปตกลงว่าจะขับรถไปกันเอง และเมื่อขับรถไปเองแล้วก็ขอเก็บเกี่ยวชื่นชมธรรมชาติให้ได้มากที่สุดเท่าที่เวลาจะอำนวย การเดินทาง 5 วัน 4 คืน หน้าตาจึงออกมาเป็นดังนี้ครับ

วันที่ 1 (26 ธันวาคม 2552) : ขับรถข้ามชายแดนที่ อ.ช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี ผ่านด่านฯวังเต่า เข้าเมืองปากเซแต่วันนี้ยังไม่แวะ เลยไปชมน้ำตกและกินข้าวกลางวันที่ตาดผาส้วมรีสอร์ท (N15.27740 E105.92213)  เสร็จแล้วเดินทางต่อไปยังเมืองเซกอง เมืองเล็กๆในแขวงเซกอง พักค้างคืนที่เซกองโฮเต็ล (N15.34596 E106.72690)

วันที่ 2 (27 ธันวาคม 2552) : รุ่งเช้าเดินชมบรรยากาศตลาดเช้า ชิมบาเก็ตต์สไตล์ฝรั่งเศสที่หากินได้ทั่วไปในลาว สายๆออกจากเมืองเซกอง แวะกลางทางเล่นน้ำที่น้ำตกแซกะตาม (N15.13392 E106.64628) ชมน้ำตกระยะไกลและกินข้าวเที่ยงที่ตาดฟานรีสอร์ท (N15.18396 E106.12665) มื้อเย็นเป็นหมูกระทะที่เมืองปากเซ พักค้างคืนที่โรงแรมแสงอรุณ (N15.12230 E105.80028)

วันที่ 3 (28 ธันวาคม 2552) : อาหารเช้าที่โรงแรม เสร็จแล้วเดินทางลงไปทางทิศใต้ ลงแพขนานยนต์ที่บ้านม่วง เมืองจำปาสัก (N14.91851 E105.90001) ข้ามแม่น้ำไปชมปราสาทวัดพู (N14.84729 E105.81896) เสร็จแล้วย้อนกลับทางเดิมบ้านม่วง มุ่งหน้าลงใต้ลงไปอีก เย็นนนี้ต้องจอดฝากรถไว้ที่ริมน้ำท่าเรือนากะสัง (N14.00028 E105.92017) แล้วนั่งเรือหางยาวไปดอนคอน อาหารเย็นและพักค้างคืนที่ สาลาดอนคอน (N13.96611 E105.92562)

วันที่ 4 (29 ธันวาคม 2552) : เสร็จจากอาหารเช้าแล้วออกเดินทางด้วยรถ 5 แถว ไปชมความอลังการของแก่งหลี่ผี (N13.95426 E105.91448) ถ้าเดินเลียบริมน้ำไปเรื่อยๆจะพบหาดทราย สามารถลงเล่นน้ำคลายร้อนได้ จากนั้นนั่งรถ 5 แถว ไปชมภูมิปัญญาของชาวบ้านในการดักจับปลาที่แก่งปลาสร้อย (N13.95318 E105.93610) ที่จับปลาอลังการมาก ได้เวลาบอกลาดอนคอนแล้ว เก็บขอลงเรือหางยาวกลับไปเอารถที่ท่าเรือนากะสัง ไปคอนพะเพ็งกันต่อ (N13.96418 E105.98707) ชมสายน้ำแห่งมหานทีสี่พันดอน เสร็จแล้วกลับไปพักที่ปากเซอีกคืน

วันที่ 5 (30 ธันวาคม 2552) : เวลาหมดแล้ว จำใจต้องบอกลาเมืองปากเซ แวะตลาดดาวเรืองพอเป็นพิธีแล้วขับรถข้ามแดนทางด่านฯวังเต่า เพื่อกลับเข้าสู่บ้านเกิดเมืองแม่ คุณแม่บ้านไม่ลืมที่ช๊อบกระจายที่ร้านค้าปลอดภาษีบริเวณด่านฯวังเต่า และเป็นอันสิ้นสุดทริปลาวใต้ของคณะผมในครั้งนี้ครับ แม้จะเหน็ดเหนื่อยแต่ก็ประทับใจมิใช่น้อย

มีข้อมูลบางส่วนอยู่ที่นี่ครับ >> VFC

ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร ออนไลน์

การเดินทางส่วนแรก วิ่งเป็นวงกลม วนขวา

การเดินทางส่วนที่สอง ลงใต้แล้วย้อนทางเดิม





ข้อมูลการเดินทางของทริปนี้

วันจันทร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2554

ร้านมัดหมี่ อาหารไทย (พวน)

15 กรกฎาคม 2554

สวัสดีครับ ห่างหายการแนะนำร้านอาหารไปนาน วันนี้ผมมาแนะนำร้านมัดหมี่ จังหวัดลพบุรี ร้านนี้เป็นร้านอาหารพื้นเมืองของชาวไทยพวน (ไทพวน) ครับ ก่อนจะไปดูเรื่องอาหารเรามารู้จักกันสักนิดก่อนนะครับว่า ชาวไทยพวน คือใคร มาจากไหน 

คำว่า "พวน " เป็นคำที่ใช้เรียกคนเผ่าไต หรือคนเชื้อชาติไทยสาขาหนึ่งที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ราบสูงตรันนินห์ (Tranninh Plateau) (ที่ราบสูงทางตอนเหนือในประเทศ สปป.ลาวในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีและภาษาพูดอันเป็นเอกลักษณ์ หรือแบบแผนของตนเอง ในอดีตกาลชนกลุ่มนี้ได้รวบรวมเมืองต่าง ๆ เช่น เมืองบริขันธ์ เมืองธุรคม เมืองเชียงคำ ฯลฯ ก่อตั้งเป็นอาณาจักรอิสระปกครองตนเอง มีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองอาณาจักรและเป็นประมุข เรียกว่าอาณาจักรพวน หรือเมืองพวน โดยมีเมืองเชียงขวางเป็นเมืองหลวง ไทยพวนจะอพยพมาจากเมืองเชียงขวาง เมืองหลวงพระบาง เมืองเวียงจันทน์ เมืองกำแพงนครเวียงจันทน์ (กำแพงนครเวียงจันทน์ ถือเป็นเขตปกครองพิเศษ  มีฐานะเทียบกับเทศบาลนคร ส่วนแขวงเวียงจันทน์ มีฐานะเป็นจังหวัด) และย้ายถิ่นมาอยู่ในประเทศไทยรวม19 จังหวัด คือ ลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร เพชรบูรณ์ นครนายก ปราจีนบุรี หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย เลย นครพนม มุกดาหาร กำแพงเพชร และมีการรวมตัวกันตั้งเป็น ชมรมไทยพวนประเทศไทย มีการจัดกิจกรรมร่วมกันตลอดมา

การอพยพย้ายถิ่นฐานของคนพวนในอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรีนั้น ไม่ทราบแน่ชัดว่าอพยพเข้ามาในสมัยใด เพราะคนพวนในอำเภอบ้านหมี่อพยพลงมาไม่พร้อมกัน และยังขาดหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรสนับสนุน แต่พอจะสรุปได้ว่าการอพยพย้ายถิ่นฐานของคนพวนในอำเภอบ้านหมี่มีอยู่ 3 ช่วง คือ อพยพมาตั้งแต่ตอนปลายสมัยกรุงธนบุรี ต่อมาอพยพเป็นจำนวนมากที่สุดในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามลำดับ

อาหารที่ชาวไทยพวนนิยม คือ ปลาร้า ดังนั้นอาหารบางอย่างจึงมีส่วนผสมของปลาร้าอยู่ด้วย เมนูแนะนำของร้านนี้คือ แกงคั่วเห็ดเผาะ, แกงคั่วหอยขม, แกงส้มพวน, ไก่ไทยรวนปลาร้า, ไข่เค็มผัดขิงดุกฟู, ปลาร้าสับ, ผัดกระเทียมดองวุ้นเส้นโบราณ, แกงอ่อมพวน, ปลาส้มตัวทอดกรอบ

ร้านมัดหมี่ ตั้งอยู่เลขที่ 8/18 ถ.พระศรีมโหสถ ต.ทะเลชุบศร อ.เมือง จ.ลพบุรี โทร. 036-412-883, 036-612-387, 081-780-4341 เปิดทุกวัน (หยุดทุกวันที่ 15 ของเดือน) เวลา 10.00-22.00 น.

พิกัดร้านมัดหมี่ : N14.79541 E100.64338

ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร ออนไลน์

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก เว็บคนไทยพวน

หน้าร้านมัดหมี่
เชลล์ชวนชิม วันที่ผมไปชิมเจ้าของป้ายมาเองเลยครับ

รายการอาหารเด่นที่แนะนำ

บรรยากาศในร้าน คุณชายถนัดศรี ก็มาร้านในวันนั้นด้วย

ขนมถ้วย ของว่างระหว่างรออาหาร
แกงส้มเห็ดเผาะ

แกงส้มพวน

แกงอ่อมปลาม้า

ใส้กรอกปลา

ผัดวุ้นเส้น

ไข่เค็มผัดพริกขิงดุกฟู

ไก่ไทยรวนปลาร้า

ปลาส้มตัวทอด

ค่าเสียหายทั้งหมด
ลานจอดรถอยู่ข้างๆร้าน