วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ปราสาทบันทายฉมาร์

12 สิงหาคม 2552


ภาพครุฑยุดนาค ที่เคยอยู่หน้าสะพานนาค หน้าโคปุระทิศตะวันออก


“ปราสาทบันทายฉมาร์” หรือ "บันเตียฉมาร์" (Banteay Chhmar)

แต่เดิมในวัยเรียน “วิชาประวัติศาสตร์” เป็นยาขมสำหรับผมอยู่ไม่น้อย ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และไม่มีความอยากรู้อยากเห็นด้วยตัวของตัวเอง มาถึงวันนี้เริ่มรู้สึกแล้วว่าวิชาประวัติศาสตร์ เป็นวิชาที่สนุกและให้จินตนาการอย่างมาก เอาละทิ้งเรื่องวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนไว้แค่นี้ก่อนแล้วกันครับ บทความนี้ผมมาชวนทุกท่านย้อนกลับไปในอดีตกาล กลับไปในช่วงสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ครองราชย์ พ.ศ.1724-1762) อันเป็นยุดที่ถือว่าเป็นยุดทองของศิลปขอมทีเดียว กล่าวให้เจาะจงลงไปแล้วบทความนี้ผมมาชวนไปชม “ปราสาทบันทายฉมาร์” ครับ

“ปราสาทบันทายฉมาร์” ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพื่ออุทิศให้แก่โอรสของพระองค์ และแม่ทัพคนสำคัญที่เคยร่วมรบกับเจ้าชาย ในการปราบกบฎภรตราหู และในสงครามที่รบกับพวกจาม ปัจจุบันปราสาทตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศกัมพูชา ในเขตจังหวัดบันเตียเมียนเจย (บันทายมีชัย) ซึ่งแยกตัวออกมาจากจังหวัดเสียมเรียบ (เสียมราบ/เสียมราฐ) ห่างจากเมืองศรีโสภณไปตามเส้นทางถนนทางทิศเหนือประมาณ 63 กม. ทริปนี้ผมเลือกเดินทางแบบผสมผสาน โดยออกเดินทางจากกรุงเทพฯด้วยรถยนต์ส่วนตัว แล้วนำไปฝากจอดไว้ที่บริษัททัวร์ท้องถิ่นในบริเวณตลาดชายแดนบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว แล้วเดินข้ามแดนไปประเทศกัมพูชา ผ่านทางด่านฯคลองลึก ไปสู่เมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา เพื่อต่อรถบัสขนาดกลางที่สถานีขนส่งปอยเปตไปยัง “ปราสาทบันทายฉมาร์” อีกต่อหนึ่ง ทริปนี้ผมไม่ได้ขับรถข้ามแดนไปเหมือนทริปลาว เนื่องจากระเบียบของทางราชการกัมพูชา ค่อนข้างยุ่งยากในการนำรถยนต์ข้ามแดนไปเอง จึงเลือกใช้วิธีจ้างเหมาผู้ประกอบการไทย ในการจัดการพาคณะเราไปชมปราสาท ซึ่งระเบียบยังกำหนดให้เราต้องจ้างไกด์ท้องถิ่น 1 คนไปกันคณะเราด้วย รถบัสเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 5 ผ่านเมืองศรีสโภณ แล้วมุ่งหน้าไปตามทางหลวงหมายเลข 56 อีกประมาณ 60 กม. คิดเป็นระยะทางจากชายแดนไทยประมาณ 110 กม.  ก็ถึง “ปราสาทบันทายฉมาร์”

จุดผ่านแดนบ้านคลองลึก (ด่านฯคลองลึก) อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว อยู่ตรงข้ามกับ ปอยเปต อ.โอรโจรว จ.บันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา เปิดทำการระหว่างเวลา 07.00-20.00 น. ผู้ที่จะเดินทางข้ามชายแดนไทยกัมพูชา ให้ถือปฏิบัติดังนี้ครับ

1. คนไทยที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำเภอคลองลึก อำเภออรัญประเทศ อำเภอคลองหาดและอำเภอตาพระยา สามารถขอบัตรชายแดนไปเช้าเย็นกลับได้ และผู้ถือบัตรผ่านแดนชั่วคราวชาวไทย สามารถเดินทางเข้าออกราชอาณาจักรกัมพูชาได้ในจังหวัดบันเตียนเมียนเจยและจังหวัดเสียมราฐ แต่ไม่สามารค้างคืนได้

2. ผู้ถือบัตรผ่านแดนชั่วคราวชาวกัมพูชา สามารถเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทยได้ในจังหวัดสระแก้วและจังหวัดปราจีนบุรี แต่ไม่สามารถค้างคืนได้ สำหรับชาวกัมพูชาที่ถือหนังสือผ่านแดน (Border Pass) สามารถพักค้างคืนที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว

3. สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้าไปยังราชอาณาจักรกัมพูชา จะต้องแสดงบัตรประชาชนและพาสปอร์ต โดยขอวีซ่าจากสถานทูตราชอาณาจักรกัมพูชาประเทศไทย เพื่อที่จะเข้าไปท่องเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับ

4. นักท่องเที่ยวชาวไทยที่จะเดินทางเข้าไปในราชอาณาจักรกัมพูชา แบบไปเช้า-เย็นกลับ ในระยะทางไม่เกินป้อมยาม ต้องแสดงบัตรประชาชนและพาสปอร์ต

สำหรับคณะผมเข้าเงื่อนไขที่ 3. การขอวีซ่าเข้าประเทศกัมพูชาสามารถขอได้ ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองในขณะข้ามแดนได้เลย แต่ผมแนะนำให้ขอมาล่วงหน้าจากกรุงเทพฯครับ เพื่อความรวดเร็วและค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า

คุณ
ศรัณย์ ทองปาณ กล่าวไว้ในวารสารเมืองโบราณ ฉบับ ๓๗.๒ ว่า ชาวกัมพูชาน่าจะออกเสียงชื่อปราสาทว่า “บัน-เตีย-ฉะ-มา” แต่ในที่นี้ใช้ “บันทายฉมาร์” ให้คุ้นตาผู้อ่านคนไทย เหมือนกับชื่อปราสาทอื่นๆ เช่น บันทายสรี หรือชื่อเมือง เช่น บันทายมาศ

“บันทายฉมาร์” คงเป็นชื่อเรียกสืบต่อกันมาแต่โบราณ เช่นเดียวกับชื่อปราสาทหินต่างๆ ทั้งในกัมพูชาและในประเทศไทย อย่างไรก็ดี มีการแปลความหมายเป็นสองนัย นัยหนึ่งแปลว่า “ป้อมแมว” คือ “บันเตีย/บันทาย” แปลวา “ป้อม” ส่วน “ฉมา” แปลว่า “แมว” ส่วนอีกนัยหนึ่ง เห็นควรแปลว่า “ป้อมเล็ก/ป้อมแคบ” เพราะ “ฉมาร" (ฉะ-มาร) แปลว่า “คับแคบ-เล็ก” กโรส์ลิเยร์ (George Groslier) นักโบราณคดีฝรั่งเศษที่เคยเดินทางไปสำรวจทำผังปราสาทแห่งนี้เมื่อทศวรรษ 1930 ตั้งข้อสังเกตุว่า ชื่อนี้อาจมีที่มาจากการที่กลุ่มปราสาทประธานตั้งอยู่เบียดเสียดกันมาก ขณะที่คุณอัษฏางค์ ชมดี แห่งกลุ่มสุรินทร์สโมสร ให้ทัศนะกับกองบรรณาธิการวารสารเมือโบราณ ว่า ในภาษาเขมร “ฉมาร” มิได้แปลว่าขนาดเล็ก หากแต่มีนัยว่าเป็นสิ่งอันมีความสำคัญในอันดับรองลงไป นั่นคือมีขนาดย่อมลงมากว่านครวัด-นครธม

สิ่งสำคัญที่ควรชม คือภาพสลักที่ผนังระเบียงคต แม้ส่วนใหญ่จะพังทลายไปหมดแล้ว แต่เฉพาะที่มีเหลืออยู่ก็ยังน่าดู หลายภาพสามารถเทียบเคียงได้กับภาพสลักที่ผนังระเบียงคตของปราสาทบายนในเมืองพระนคร เช่น ภาพฉากยุทธนาวีระหว่างจามปากับกัมพูชา อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆในสงครามยุคโบราณ และภาพชีวิตประจำวันของชาวบ้าน แต่ที่พิเศษสำหรับที่นี่คือ ภาพสลักบนผนังระเบียงคตด้านทิศใต้ ที่เชื่อกันว่าเป็นพระราชประวัติของเจ้าชายศิรินทรกุมาร ที่ต่อสู้กับภรตราหู ส่วนที่ผนังระเบียงคตทิศตะวันตก ยังมีภาพที่อธิบายกันว่า คือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่เรียกตามคัมภีร์ "การัณฑวยูหะ" ว่า”พระโลเกศวร” ปางต่างๆแต่เดิมเมื่อนักวิชาการฝรั่งเศสมาทำการศึกษาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เคยมีอยู่แปดองค์หรือแปดปาง ทั้งแบบเศียรเดี่ยว หลายกร (4, 6, 8 และ 10 กร) กับองค์ที่มีหลายเศียร หลายกร (7 เศียร 16 กร, 7 เศียร 22 กร, 7 เศียร 32 กร) แต่ช่วงปี พ.ศ.2542 ถูกลักลอบโจรกรรมไปหกองค์ ทางการไทยจับยึดได้และส่งกลับไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงพนมเปญ ได้เพียง 2 องค์ คงเหลือที่สาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยถึง 4 องค์ จะสังเกตุได้ว่า ผนังด้านทิศตะวันตกถัดไปจากรูปพระโลเกศวรที่ยังคงอยู่บนกำแพง 2 องค์นั้น มี "ช่องโหว่" ที่หินหายไปยาวเหยียด ประมาณว่าภาพสลักที่ถูกลักลอบโจรกรรมไปนั้น มีความยาวถึง 12 เมตร

ร่องรอยการทำลายด้วยน้ำมือโจรในยุคไม่กี่ปีมานี้ยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไป ปรากฏเป็นรอยแผลสดใหม่บนเนื้อหินที่ถูกกระเทาะตามใบหน้าของภาพสลักบนหน้าบันและนางอัปสร

สุดท้ายนี้ผม (
นายทัศนาจร ออนไลน์) ขอทิ้งข้อคิดเอาไว้ว่า เมื่อครั้งที่พม่ายกทัพรุกรานสยาม เรารู้สึกอย่างไร ก็คงไม่ต่างจากความรู้สึกของขอมที่ถูกสยามรุกรานเช่นนั้น ปัจจุบันความเจริญทางวัตถุเดินสวนทางกับความเจริญทางจิตใจและวัฒนธรรม วันนี้ประวัติศาสตร์ไม่อาจแก้ไข แต่อนาคตเรากำหนดได้ครับ เปิดใจให้กว้าง แล้วจะเป็นสุขครับ


พิกัดสุดเขตประเทศไทยด้านสระแก้ว : N13.66128 E102.55012
พิกัดสถานีขนส่งปอยเปต : N13.65512 E102.56374

พิกัดแยกศรีโสภณ : N13.59108 E102.97352
พิกัดทางเข้าด้านตะวันออก : N14.07083 E103.10466
พิกัดปราสาท : N14.07069 E103.10085

ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร ออนไลน์



ข้อมูลบางส่วน : ศรัณย์ ทองปาน, วารสารเมืองโบราณ ฉบับ ๓๗.๒

รถบัสที่เรานั่งไปชมปราสาท ในภาพกำลังเติมน้ำมันครับ
สภาพร้านค้าข้างทาง ฝั่งตรงข้ามกับปั๊มน้ำมัน
บริเวณหน้าปราสาท เจ้าหน้าที่นำชิ้นส่วนปราสาทมาเรียงกันไว้ เพื่อบูรณะตามหลักวิชาการ
ชิ้นส่วนเรียงกันเต็มไปหมด ไม่รู้จะต้องใช้เวลาในการบูรณะกันสักกี่ปี
ภาพแกะสลักบนกำแพงระเบียงคตด้านทิศตะวันออก
เป็นภาพสงครามระหว่างขอมกับพวกจาม




ชิ้นส่วนหน้าบันแสดงภาพพุทธประวัติ
ชมใกล้ๆ
รูปสลักพระพุทธรูป ตั้งวางอยู่ที่พื้น
รูปสลักนี้สันนิษฐานว่าอาจเป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และศรินทรกุมาร
รูปสลักกองทัพของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
เดิมชมปราสาทกัน
ระเบียงคตทางทิศใต้
ระเบียงคตของปราสาทบันทายฉมาร์มีลักษณะเดียวกับปราสาทนครวัด
คือมีผนังด้านในก่อทึบ ส่วนด้านนอกใช้แนวเสาหินค้ำยันหลังคา
ปราสาทลงมากองอยู่ที่พื้นมากมาย
ระเบียงคตด้านใต้ กับไกด์ชาวกัมพูชา ที่พูดภาษาไทยชัดมาก
ถวายหัวศัตรู
ภาพกว้าง
สุดระเบียงคตด้านทิศใต้ จะเห็นภาพสลักยอดระเบียงที่เป็นรูปของ กินรี และ "ครุฑ" แทนความหมายของสัตว์ใน ป่าหิมพานต์ ป่าใหญ่ที่ล้อมรอบเขา พระสุเมรุ และสรวงสวรรค์ที่ประทับของเหล่าพระโพธิสัตว์ เทวะและพระพุทธเจ้า
ภาพสลักพระพุทธเจ้าสูงสุดมหาไวโรจน หรือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 32 กร
บนผนังระบียงคตด้านทิศตะวันตก  หนึ่งในสองภาพที่ยังคงเหลืออยู่ที่ปราสาท
ภาพสลักพระพุทธเจ้าสูงสุดมหาไวโรจน 20 กร บนผนังระบียงคตด้านทิศตะวันตก
ภาพที่สองที่ยังคงเหลืออยู่ที่ปราสาท
คัมภีร์การันฑวยูหสูตร กล่าวว่ามีเทพเจ้า 12 องค์ ออกมาจากพระองค์
รูปสลักเทพเจ้าต่างๆ แทนด้วยวงกลมที่รายล้อมอยู่รอบพระองค์
พระหัตถ์ขวามีพระโลเกศวรประทับอยู่
พระหัตถ์ซ้ายถือหม้อน้ำอมฤต
ภาพนี้สันนิษฐานว่าเป็นภาพเจ้าชายศรินทรกุมารกำลังต่อสู้กับภรตราหุ
บนผนังระเบียงคตด้านทิศใต้

ภาพเจ้าชายศรินทรกุมารอีกภาพ
ภาพสงคราม 
ยังอยู่ที่ด้านทิศใต้
เดินตัดเข้ากลางปราสาทจากประดูทิศใต้
ปรางค์ที่สร้างอุทิศแก่แม่ทัพทั้งสี่ มีพระพักตร์ของพระโลเกศวรอยู่บนยอด
แต่มีทฤษฎีใหม่แย้งว่า อาจเป็นภาพของพระเหวัชระ
เทพอีกองค์หนึ่งในพุทธศาสนาวัชรยานก็เป็นได้

เทพเจ้า "ตรีมูรติ" ในลัทธิ "ฮินดูตันตระ"
มีพระศิวะอยู่บนยอด พระนารายณ์อยู่ทางขวาและพระพรหมอยู่ทางซ้าย
ภาพสลักต้นเรื่องรามายณะ เมื่อฤๅษีวาลมิกิแลเห็นนายพรานสังหารคู่กระเรียน
เกิดความสลดใจ อุทานเป็นโศลก พระพรหมจึงปรากฏพระองค์กล่าวแก่ฤๅษี
ให้ร้อยเรียงวีรกรรมของพระรามด้วยฉันทลักษณ์นั้น
ภาพกว้าง
ผังปราสาทจากวารสารเมืองโบราณ
วารสารเมืองโบราณ ฉบับ ๓๗.๒
ผู้มีอุปการะคุณของทั้งสามบ้าน อิอิ...

วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เหมืองสมศักดิ์ (บ้านป้าเกล็น)

12 สิงหาคม 2554

สวัสดีครับ เคยได้ยินชื่อ “เหมืองสมศักดิ์” หรือ “บ้านป้าเกล็น” กันบ้างหรือไม่ครับ ถ้าเป็นคนคอออฟโร้คก็คงจะเคยได้ยินกันมานานแล้ว แต่ถ้าไม่ใช่ในระยะหลังๆนี้ก็คงพอได้ยินกันมาบ้างจากสื่อโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต “คุณสมศักดิ์” หรือ “ป้าเกล็น” เขาเป็นใคร เขาทำอะไร ทำไมสื่อจึงสนใจเขา วันนี้ผมจึงมาชวนทุกท่านไปรู้จักกับ “คุณสมศักดิ์” กับ “ป้าเกล็น” กันครับ

คุณสมศักดิ์ เสตะพันธุ เป็นบุตรของร้อยตรี สมจิตร และนางมาลี เสตะพันธุ มีพี่น้องรวม 5 คน โดยคุณสมศักดิ์เป็นบุตรชายคนโต และเป็นบุตรคนเดียวที่สืบสานตำนานเหมืองแร่ต่อจากบรรพบุรุษ ได้ศึกษาสำเร็จปริญญาโท สาขาวิศกรรมเหมืองแร่ ที่ประเทศออสเตรเลีย และได้นำความรู้ที่ร่ำเรียนมาพัฒนาธุรกิจเหมืองแร่ได้อย่างทันสมัย ทำให้ยุคที่นำโดยนายเหมืองคุณสมศักดิ์เป็นยุคที่รุ่งโรจน์มาก ในยุคนั้นมีคนงานกว่า 600-700 คน ทำงานเป็นกะทั้งกลางวันและกลางคืน มีเขตสัมปทานอยู่ที่ ส.จ.1 ในพื้นที่สัมปทานกว่า 500 ไร่ และเป็นอีกเหมืองหนึ่ง (เหมืองฉีด) ที่มีขนาดใหญ่และเป็นที่รู้จักเลื่องชื่อใน ต.ปิล๊อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี แร่ดีบุกที่ผลิตจากที่นี่หลังจากถูกคัดกรองแล้ว จะส่งที่ จ.ภูเก็ต เพื่อทำการถลุง ก่อนจะส่งออกสู่ตลาดโลกต่อไป

เมื่อครั้งคุณสมศักดิ์ ได้ไปศึกษาที่ประเทศออสเตรเลีย ได้พบรักกับคุณเกล็นนิส เจอร์เมนไวท์ ซึ่งเป็นหญิงสาวชาวออสเตรเลีย ทั้งคู่ได้คบหาดูใจกันและได้หมั้นหมายกันที่ประเทศออสเตรเลีย เป็นเวลากว่า 4 ปี และเมื่อคุณสมศักดิ์สำเร็จการศึกษาก็ได้พาคุณเกล็นนิส กลับมาแต่งงานและใช้ชีวิตกันที่เมืองไทย งานแต่งงานจัดขึ้นอย่างเรียบง่าย แต่มีความหมาย ณ โบสถ์วัฒนา เมื่อปี ค.ศ.1967 คุณสมศักดิ์ได้ให้คุณเกล็นนิสอยู่บ้านที่กรุงเทพ มีหน้าที่ดูแลบุตรชายคนเดียว ส่วนคุณสมศักดิ์อยู่ทำเหมืองที่ปิล๊อก จะกลับมาทุกๆอาทิตย์และยามว่าง

เมฆหมอกแห่งความยุ่งยาก รุกคืบเข้ามาเมื่อปี ค.ศ.1984 สภาพเหมืองแร่เริ่มมีปัญหา สภาเหมืองแร่ของโลกกำลังถูกท้าทายจาก (อดีต) สองมหาอำนาจแห่งเอเชีย ซึ่งต่อมาไม่นานความขัดแย้งได้ส่งผลอย่างมหาศาลต่ออุตสาหกรรมเหมืองแร่ทั่วโลก รวมทั้งหุบเขาเล็กๆที่ไม่เป็นที่รู้จักของคนนอกพื้นที่อย่างปิล๊อกด้วย

ป้าเกล็น เล่าให้ผมฟังว่า จีน กับ รัสเซีย ไม่ยอมทำตามข้อตกลงของสภา พวกเขาระบายแร่ดีบุก จำนวนมหาศาลออกสู่ตลาด และมันทำให้ราคาของแร่ดีบุกลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหมืองแร่ทั้งโลก รวมทั้งเหมืองของเราด้วย

จากนั้นอีกประมาณ 2 ปี เหมืองแร่ต่างๆในประเทศไทยทยอยปิดตัว เนื่องจากไม่อาจต้านทานสถานการณ์โลกได้ ประจวบกับราคาแร่ตกต่ำจนทำให้ขาดทุนกันไปตามๆกัน วันเวลาและยุคทองของเหมืองแร่ดูเหมือนจะค่อยๆปิดฉากลง ไม่ต่างกับม่านชีวิตของหลายๆคน คนที่มีโชคชะตาผูกพันใกล้ชิดกับเหมืองแร่และไม่ใช่ข้อยกเว้นสำหรับนายเหมืองสมศักดิ์ ที่ทนรับสภาวะการขาดทุนไม่ไหว จึงปิดตัวเองในที่สุด

คุณสมศักดิ์ต้องตรอมใจกับเหตุการณ์นี้มากๆ ส่งผลให้ร่างกายทรุดโทรมลง ประกอบกับบุตรชายเติบโตจนเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว คุณเกล็นนิสจึงลาออกจากการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ออกมาปรนนิบัติดูแลคุณสมศักดิ์ด้วยตัวเองที่เหมืองปิล๊อก ที่ซึ่งไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดเลยๆ ทำให้คุณเกล็นนิสได้รับรู้ว่าคุณสมศักดิ์รักและผูกพันกับเหมืองและคนงานแห่งนี้มาก เรียกได้ว่ามันคือชีวิตและจิตใจของคุณสมศักดิ์เลยก็ว่าได้ คนงานก็เปรียบเสมือนเป็นพี่เป็นน้อง มีแต่ความเป็นห่วงเป็นใยและกลัวทุกคนจะลำบาก แม้แต่การสนทนาครั้งสุดท้าย คุณสมศักดิ์ยังคงบ่นเป็นห่วงคนงานเก่าแก่ทั้งหลายที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา

คุณเกล็นนิสบอกกับคุณสมศักดิ์ว่า ฉันจะไม่ทิ้งคนงานทุกคนไปไหน จะกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่เหมือง จะเป็นคนดูแลคนงานทุกๆคนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้คุณเกล็นนิสยังบอกด้วยว่า พี่ศักดิ์ไม่ต้องเป็นห่วงฉันและทุกๆคนคุณสมศักดิ์ยิ้มและถามกลับมาว่า จะทำยังไง? ถ้าทำไม่ได้ละ? คุณเกล็นนิสตอบด้วยน้ำเสียงเด็ดขาดว่า ทำได้สิ ต้องทำได้และนั่นเป็นรอยยิ้มครั้งสุดท้ายจากคุณสมศักดิ์ ที่คุณเกล็นนิสได้เห็น และในเวลาไม่นานมะเร็งร้ายก็พรากชีวิตคุณสมศักดิ์ไปจากทุกคนอันเป็นที่รักไปตลอดกาล

เมื่อสิ้นคุณสมศักดิ์ไปแล้วคุณเกล็นนิสก็กลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่เหมืองแห่งนี้จริงๆ ด้วยความตั้งมั่นในความรักและคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้กับคุณสมศักดิ์ และนั่นเป็นแรงขับทำให้คุณเกล็นนิสใช้ชีวิตอยู่ที่ดินแดนที่ห่างไกลจากผู้คนแห่งนี้ได้อย่างสุขใจ โดยการแปรสภาพจากเหมืองแร่ มาเป็นรีสอร์ทเล็กๆในหุบเขาใหญ่ ภายใต้สโลแกนว่า บ้านเล็กในป่าใหญ่ ปัจจุบันบ้านที่คุณเกล็นนิสพัก ก็ปรับปรุงมาจากโรงเก็บพัสดุเก่าของเหมืองแร่ และกลายเป็นห้องรับรองแขกที่มาพัก ซึ่งแรกๆส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาจากกรุงเทพฯ แต่ ณ ปัจจุบันมีนักเที่ยวจากทุกทั่วสารทิศเข้ามาแวะชมรีสอร์ทแห่งนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

นี่คือเรื่องราวของผู้หญิงเกร่งจากต่างแดนวัย 74 ปีในวันนี้ ที่ชื่อ “เกล็นนิส เจอร์เมนไวท์” หรือ "เกล็นนิส เสตะพันธุที่ปัจจุบันแขกผู้มาเยือนจะเรียกเธอว่า “ป้าเกล็น” ครับ

บ้านป้าเกล็น มีบ้านให้นักท่องเที่ยวพักดังนี้ครับ

ห้องพักVIP
มี 1 ห้องนอนใหญ่ 1 ห้องน้ำ เตียงนอนใหญ่ นอนได้ 3-4 คน เหมาะสำหรับครอบครัว สามารถเสริมที่นอนได้ตามจำนวนคนรับได้ที่ 4-5 ท่าน

บ้านพักริมน้ำ
เป็นบ้านพักหลังใหญ่ มี 3 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ ห้องละ 4-5 เตียง ด้านหน้าติดฝายกั้นน้ำ ด้านข้างติดภูเขาเขียวขจี เหมาะสำหรับพักเป็นหมู่คณะใหญ่ มีพื้นที่ลานด้านหน้าเหมาะสำหรับจัดสังสรรค์

บ้านพักริมเนิน
เป็นบ้านพักเรือนแถว มี 4 ห้องนอน 4 ห้องน้ำ บ้านพักอยู่ติดภูเขาเขียวขจี มีพื้นที่ด้านหลังใช้สำหรับบาบีคิวและจัดปาร์ตี้อย่างกว้างขว้าง

บ้านพักริมห้วย
เป็นบ้านพักจำนวน 2 ห้องติดกัน สามารถเพิ่มเบาะเสริมเพื่อพักรวมกันได้ แต่ละห้องพักได้ 4 ท่าน ด้านหน้าติดลานสนามบาส ด้านหลังติดริมห้วย ด้านหลังมีพื้นที่ไว้สังสรรค์แบบเป็นส่วนตัว

อาหารการกิน ทางป้าเกล็นจะจัดให้รวมอยู่ในแพคเกจอยู่แล้ว อาหารไม่ใช่บุพเฟ่ แต่จะจัดและเสริฟให้เป็นกลุ่มๆ ปริมาณตามจำนวนคน รับรองว่าไม่มีขาดมีแต่เหลือ ซึ่งรวมถึง ชา กาแฟ โอวัลติน และที่ขาดไม่ได้คือ ขนมเค็ก สูตรออริจินอลฝีมือป้าเกล็นเอง มีให้ชิมไม่อั้นตลอดรายการอีกด้วย รายการอาหารประจำวันจะมีดังนี้ครับ

อาหารเช้า
เสริฟ 2 แบบคู่กัน ขนมปัง แยม ไส้กรอก ไข่ดาว/ไขลวก และข้าวต้มหรือโจ๊ก ปรุงสดๆใหม่ๆ

อาหารเที่ยง
จะเสริฟอาหารไม่หนักมาก เช่น ข้าวผัด และต้มจืด / หรือกระเพราะ ไข่เจียว ต้มจืด (มื้อเที่ยงหากนักท่องเที่ยวมีโปรแกรมออกไปเที่ยวข้างนอก ก็จะจัดเป็นอาหารกล่องให้)

อาหารเย็น
จะเสริฟอาหารค่อนข้างเยอะ กับข้าวประมาณ 5-6 อย่าง (เช่น ปลาทับทิมทอด แกงป่าหมูใส่ผัก ซีโครงหมูผัด ผัดผัดรวม เป็นต้น) ทุกๆกลุ่มไม่ว่าจะมาจำนวนมากหรือจำนวนน้อย (ปริมาณจะเพิ่มให้ตามจำนวนคน) และที่พิเศษสุดหากพักคืนเดียวก็จะปิ้งบาร์บีคิวในคืนแรก หากพักสองคืนบาร์บีคิวจะมาในคืนที่สองอีกด้วย

ข้อมูลข้างต้นผมคัดลอก ตัดทอนมาจากเว็บไซต์ของคุณป้าเกล็น และเพิ่มเติมเองบ้างเล็กน้อย หากสนใจอยากติดตามเรื่องราวโดยละเอียด ก็ตามเข้าไปชมกันได้นะครับที่ www.parglen.com

พิกัดปากทางเข้าเหมืองสมศักดิ์ (ทล 3272) : N14.66916 E98.38602
พิกัดทางแยกเข้าเหมืองสมศักดิ์ : N14.65489 E98.40428
พิกัดเหมืองสมศักดิ์ (บ้านป้าเกล็น) : N14.65427 E98.40152

ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร ออนไลน์

จุดชมวิว กิโลเมตรที่ 11 ในเส้นทางระหว่างไป อุทยานฯทองผาภูมิ

สภาพเส้นทางที่มาจาก อ.ทองผาภมิ

วิวทิวทัศน์ที่จุดชมวิว

บรรยากาศในตลาดบ้านอีต่อง ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย

เส้นทางไปเหมือสมศักดิ์ มีป้ายเตือนเป็นระยะ

บรรยากาศแรกที่ถึงเหมืองสมศักดิ์ ป้าเกล็นออกมาต้อนรับด้วยตัวเอง

ป้าเกล็นผู้มีอัธยาศัยใจดี

โต๊ะขนมเค็กฝีมือป้าเกล็น ตั้งไว้ต้อนรับแขกผู้มาเยือน

เค็กส้ม

เค็กส้ม ราดท๊อปปิ้งมะนาว

เค็กกล้วยหอม

เค็กช๊อคโกแลต

แค็คแครอท

บรรยากาศโต๊ะอาหาร

มุมพักผ่อนที่ตกแต่งอย่างน่ารัก

โต๊ะทำงานของป้าเกล็น

ความทรงจำดีๆ

ชา กาแฟ เตรียมไว้ไม่อั้น

เค็กทานได้ไม่อั้นเหมือนกัน

โต๊ะอาหารคอยท่าผู้มายือน

แม้แต่ห้องสุขา ยังตกแต่งได้อย่างลงตัว

ป้าเกล็นอธิบายวิธีการทำเหมือง ผ่านแบบจำลอง

แร่ดีบุกที่คัดแยกเสร็จแล้ว พร้อมส่งไปภูเก็ต

บรรยากาศอาหารมื้อเย็น

เมนูเด็ด

อ่างเก็บน้ำ แหล่งพลังงานที่ใช้ในการปั่นไฟฟ้า

ลำธารหน้าที่พัก

บ้านริมเนิน ที่ผมพักทริปนี้

กล้วยไม้ริมลำธาร

ติดต่อป้าเกล็นได้ตามนี้ครับ
เพื่อนใหม่ทริปนี้ครับ