วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ปราสาทบันทายฉมาร์

12 สิงหาคม 2552


ภาพครุฑยุดนาค ที่เคยอยู่หน้าสะพานนาค หน้าโคปุระทิศตะวันออก


“ปราสาทบันทายฉมาร์” หรือ "บันเตียฉมาร์" (Banteay Chhmar)

แต่เดิมในวัยเรียน “วิชาประวัติศาสตร์” เป็นยาขมสำหรับผมอยู่ไม่น้อย ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และไม่มีความอยากรู้อยากเห็นด้วยตัวของตัวเอง มาถึงวันนี้เริ่มรู้สึกแล้วว่าวิชาประวัติศาสตร์ เป็นวิชาที่สนุกและให้จินตนาการอย่างมาก เอาละทิ้งเรื่องวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนไว้แค่นี้ก่อนแล้วกันครับ บทความนี้ผมมาชวนทุกท่านย้อนกลับไปในอดีตกาล กลับไปในช่วงสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ครองราชย์ พ.ศ.1724-1762) อันเป็นยุดที่ถือว่าเป็นยุดทองของศิลปขอมทีเดียว กล่าวให้เจาะจงลงไปแล้วบทความนี้ผมมาชวนไปชม “ปราสาทบันทายฉมาร์” ครับ

“ปราสาทบันทายฉมาร์” ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพื่ออุทิศให้แก่โอรสของพระองค์ และแม่ทัพคนสำคัญที่เคยร่วมรบกับเจ้าชาย ในการปราบกบฎภรตราหู และในสงครามที่รบกับพวกจาม ปัจจุบันปราสาทตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศกัมพูชา ในเขตจังหวัดบันเตียเมียนเจย (บันทายมีชัย) ซึ่งแยกตัวออกมาจากจังหวัดเสียมเรียบ (เสียมราบ/เสียมราฐ) ห่างจากเมืองศรีโสภณไปตามเส้นทางถนนทางทิศเหนือประมาณ 63 กม. ทริปนี้ผมเลือกเดินทางแบบผสมผสาน โดยออกเดินทางจากกรุงเทพฯด้วยรถยนต์ส่วนตัว แล้วนำไปฝากจอดไว้ที่บริษัททัวร์ท้องถิ่นในบริเวณตลาดชายแดนบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว แล้วเดินข้ามแดนไปประเทศกัมพูชา ผ่านทางด่านฯคลองลึก ไปสู่เมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา เพื่อต่อรถบัสขนาดกลางที่สถานีขนส่งปอยเปตไปยัง “ปราสาทบันทายฉมาร์” อีกต่อหนึ่ง ทริปนี้ผมไม่ได้ขับรถข้ามแดนไปเหมือนทริปลาว เนื่องจากระเบียบของทางราชการกัมพูชา ค่อนข้างยุ่งยากในการนำรถยนต์ข้ามแดนไปเอง จึงเลือกใช้วิธีจ้างเหมาผู้ประกอบการไทย ในการจัดการพาคณะเราไปชมปราสาท ซึ่งระเบียบยังกำหนดให้เราต้องจ้างไกด์ท้องถิ่น 1 คนไปกันคณะเราด้วย รถบัสเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 5 ผ่านเมืองศรีสโภณ แล้วมุ่งหน้าไปตามทางหลวงหมายเลข 56 อีกประมาณ 60 กม. คิดเป็นระยะทางจากชายแดนไทยประมาณ 110 กม.  ก็ถึง “ปราสาทบันทายฉมาร์”

จุดผ่านแดนบ้านคลองลึก (ด่านฯคลองลึก) อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว อยู่ตรงข้ามกับ ปอยเปต อ.โอรโจรว จ.บันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา เปิดทำการระหว่างเวลา 07.00-20.00 น. ผู้ที่จะเดินทางข้ามชายแดนไทยกัมพูชา ให้ถือปฏิบัติดังนี้ครับ

1. คนไทยที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำเภอคลองลึก อำเภออรัญประเทศ อำเภอคลองหาดและอำเภอตาพระยา สามารถขอบัตรชายแดนไปเช้าเย็นกลับได้ และผู้ถือบัตรผ่านแดนชั่วคราวชาวไทย สามารถเดินทางเข้าออกราชอาณาจักรกัมพูชาได้ในจังหวัดบันเตียนเมียนเจยและจังหวัดเสียมราฐ แต่ไม่สามารค้างคืนได้

2. ผู้ถือบัตรผ่านแดนชั่วคราวชาวกัมพูชา สามารถเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทยได้ในจังหวัดสระแก้วและจังหวัดปราจีนบุรี แต่ไม่สามารถค้างคืนได้ สำหรับชาวกัมพูชาที่ถือหนังสือผ่านแดน (Border Pass) สามารถพักค้างคืนที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว

3. สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้าไปยังราชอาณาจักรกัมพูชา จะต้องแสดงบัตรประชาชนและพาสปอร์ต โดยขอวีซ่าจากสถานทูตราชอาณาจักรกัมพูชาประเทศไทย เพื่อที่จะเข้าไปท่องเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับ

4. นักท่องเที่ยวชาวไทยที่จะเดินทางเข้าไปในราชอาณาจักรกัมพูชา แบบไปเช้า-เย็นกลับ ในระยะทางไม่เกินป้อมยาม ต้องแสดงบัตรประชาชนและพาสปอร์ต

สำหรับคณะผมเข้าเงื่อนไขที่ 3. การขอวีซ่าเข้าประเทศกัมพูชาสามารถขอได้ ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองในขณะข้ามแดนได้เลย แต่ผมแนะนำให้ขอมาล่วงหน้าจากกรุงเทพฯครับ เพื่อความรวดเร็วและค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า

คุณ
ศรัณย์ ทองปาณ กล่าวไว้ในวารสารเมืองโบราณ ฉบับ ๓๗.๒ ว่า ชาวกัมพูชาน่าจะออกเสียงชื่อปราสาทว่า “บัน-เตีย-ฉะ-มา” แต่ในที่นี้ใช้ “บันทายฉมาร์” ให้คุ้นตาผู้อ่านคนไทย เหมือนกับชื่อปราสาทอื่นๆ เช่น บันทายสรี หรือชื่อเมือง เช่น บันทายมาศ

“บันทายฉมาร์” คงเป็นชื่อเรียกสืบต่อกันมาแต่โบราณ เช่นเดียวกับชื่อปราสาทหินต่างๆ ทั้งในกัมพูชาและในประเทศไทย อย่างไรก็ดี มีการแปลความหมายเป็นสองนัย นัยหนึ่งแปลว่า “ป้อมแมว” คือ “บันเตีย/บันทาย” แปลวา “ป้อม” ส่วน “ฉมา” แปลว่า “แมว” ส่วนอีกนัยหนึ่ง เห็นควรแปลว่า “ป้อมเล็ก/ป้อมแคบ” เพราะ “ฉมาร" (ฉะ-มาร) แปลว่า “คับแคบ-เล็ก” กโรส์ลิเยร์ (George Groslier) นักโบราณคดีฝรั่งเศษที่เคยเดินทางไปสำรวจทำผังปราสาทแห่งนี้เมื่อทศวรรษ 1930 ตั้งข้อสังเกตุว่า ชื่อนี้อาจมีที่มาจากการที่กลุ่มปราสาทประธานตั้งอยู่เบียดเสียดกันมาก ขณะที่คุณอัษฏางค์ ชมดี แห่งกลุ่มสุรินทร์สโมสร ให้ทัศนะกับกองบรรณาธิการวารสารเมือโบราณ ว่า ในภาษาเขมร “ฉมาร” มิได้แปลว่าขนาดเล็ก หากแต่มีนัยว่าเป็นสิ่งอันมีความสำคัญในอันดับรองลงไป นั่นคือมีขนาดย่อมลงมากว่านครวัด-นครธม

สิ่งสำคัญที่ควรชม คือภาพสลักที่ผนังระเบียงคต แม้ส่วนใหญ่จะพังทลายไปหมดแล้ว แต่เฉพาะที่มีเหลืออยู่ก็ยังน่าดู หลายภาพสามารถเทียบเคียงได้กับภาพสลักที่ผนังระเบียงคตของปราสาทบายนในเมืองพระนคร เช่น ภาพฉากยุทธนาวีระหว่างจามปากับกัมพูชา อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆในสงครามยุคโบราณ และภาพชีวิตประจำวันของชาวบ้าน แต่ที่พิเศษสำหรับที่นี่คือ ภาพสลักบนผนังระเบียงคตด้านทิศใต้ ที่เชื่อกันว่าเป็นพระราชประวัติของเจ้าชายศิรินทรกุมาร ที่ต่อสู้กับภรตราหู ส่วนที่ผนังระเบียงคตทิศตะวันตก ยังมีภาพที่อธิบายกันว่า คือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่เรียกตามคัมภีร์ "การัณฑวยูหะ" ว่า”พระโลเกศวร” ปางต่างๆแต่เดิมเมื่อนักวิชาการฝรั่งเศสมาทำการศึกษาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เคยมีอยู่แปดองค์หรือแปดปาง ทั้งแบบเศียรเดี่ยว หลายกร (4, 6, 8 และ 10 กร) กับองค์ที่มีหลายเศียร หลายกร (7 เศียร 16 กร, 7 เศียร 22 กร, 7 เศียร 32 กร) แต่ช่วงปี พ.ศ.2542 ถูกลักลอบโจรกรรมไปหกองค์ ทางการไทยจับยึดได้และส่งกลับไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงพนมเปญ ได้เพียง 2 องค์ คงเหลือที่สาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยถึง 4 องค์ จะสังเกตุได้ว่า ผนังด้านทิศตะวันตกถัดไปจากรูปพระโลเกศวรที่ยังคงอยู่บนกำแพง 2 องค์นั้น มี "ช่องโหว่" ที่หินหายไปยาวเหยียด ประมาณว่าภาพสลักที่ถูกลักลอบโจรกรรมไปนั้น มีความยาวถึง 12 เมตร

ร่องรอยการทำลายด้วยน้ำมือโจรในยุคไม่กี่ปีมานี้ยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไป ปรากฏเป็นรอยแผลสดใหม่บนเนื้อหินที่ถูกกระเทาะตามใบหน้าของภาพสลักบนหน้าบันและนางอัปสร

สุดท้ายนี้ผม (
นายทัศนาจร ออนไลน์) ขอทิ้งข้อคิดเอาไว้ว่า เมื่อครั้งที่พม่ายกทัพรุกรานสยาม เรารู้สึกอย่างไร ก็คงไม่ต่างจากความรู้สึกของขอมที่ถูกสยามรุกรานเช่นนั้น ปัจจุบันความเจริญทางวัตถุเดินสวนทางกับความเจริญทางจิตใจและวัฒนธรรม วันนี้ประวัติศาสตร์ไม่อาจแก้ไข แต่อนาคตเรากำหนดได้ครับ เปิดใจให้กว้าง แล้วจะเป็นสุขครับ


พิกัดสุดเขตประเทศไทยด้านสระแก้ว : N13.66128 E102.55012
พิกัดสถานีขนส่งปอยเปต : N13.65512 E102.56374

พิกัดแยกศรีโสภณ : N13.59108 E102.97352
พิกัดทางเข้าด้านตะวันออก : N14.07083 E103.10466
พิกัดปราสาท : N14.07069 E103.10085

ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร ออนไลน์



ข้อมูลบางส่วน : ศรัณย์ ทองปาน, วารสารเมืองโบราณ ฉบับ ๓๗.๒

รถบัสที่เรานั่งไปชมปราสาท ในภาพกำลังเติมน้ำมันครับ
สภาพร้านค้าข้างทาง ฝั่งตรงข้ามกับปั๊มน้ำมัน
บริเวณหน้าปราสาท เจ้าหน้าที่นำชิ้นส่วนปราสาทมาเรียงกันไว้ เพื่อบูรณะตามหลักวิชาการ
ชิ้นส่วนเรียงกันเต็มไปหมด ไม่รู้จะต้องใช้เวลาในการบูรณะกันสักกี่ปี
ภาพแกะสลักบนกำแพงระเบียงคตด้านทิศตะวันออก
เป็นภาพสงครามระหว่างขอมกับพวกจาม




ชิ้นส่วนหน้าบันแสดงภาพพุทธประวัติ
ชมใกล้ๆ
รูปสลักพระพุทธรูป ตั้งวางอยู่ที่พื้น
รูปสลักนี้สันนิษฐานว่าอาจเป็นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และศรินทรกุมาร
รูปสลักกองทัพของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
เดิมชมปราสาทกัน
ระเบียงคตทางทิศใต้
ระเบียงคตของปราสาทบันทายฉมาร์มีลักษณะเดียวกับปราสาทนครวัด
คือมีผนังด้านในก่อทึบ ส่วนด้านนอกใช้แนวเสาหินค้ำยันหลังคา
ปราสาทลงมากองอยู่ที่พื้นมากมาย
ระเบียงคตด้านใต้ กับไกด์ชาวกัมพูชา ที่พูดภาษาไทยชัดมาก
ถวายหัวศัตรู
ภาพกว้าง
สุดระเบียงคตด้านทิศใต้ จะเห็นภาพสลักยอดระเบียงที่เป็นรูปของ กินรี และ "ครุฑ" แทนความหมายของสัตว์ใน ป่าหิมพานต์ ป่าใหญ่ที่ล้อมรอบเขา พระสุเมรุ และสรวงสวรรค์ที่ประทับของเหล่าพระโพธิสัตว์ เทวะและพระพุทธเจ้า
ภาพสลักพระพุทธเจ้าสูงสุดมหาไวโรจน หรือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 32 กร
บนผนังระบียงคตด้านทิศตะวันตก  หนึ่งในสองภาพที่ยังคงเหลืออยู่ที่ปราสาท
ภาพสลักพระพุทธเจ้าสูงสุดมหาไวโรจน 20 กร บนผนังระบียงคตด้านทิศตะวันตก
ภาพที่สองที่ยังคงเหลืออยู่ที่ปราสาท
คัมภีร์การันฑวยูหสูตร กล่าวว่ามีเทพเจ้า 12 องค์ ออกมาจากพระองค์
รูปสลักเทพเจ้าต่างๆ แทนด้วยวงกลมที่รายล้อมอยู่รอบพระองค์
พระหัตถ์ขวามีพระโลเกศวรประทับอยู่
พระหัตถ์ซ้ายถือหม้อน้ำอมฤต
ภาพนี้สันนิษฐานว่าเป็นภาพเจ้าชายศรินทรกุมารกำลังต่อสู้กับภรตราหุ
บนผนังระเบียงคตด้านทิศใต้

ภาพเจ้าชายศรินทรกุมารอีกภาพ
ภาพสงคราม 
ยังอยู่ที่ด้านทิศใต้
เดินตัดเข้ากลางปราสาทจากประดูทิศใต้
ปรางค์ที่สร้างอุทิศแก่แม่ทัพทั้งสี่ มีพระพักตร์ของพระโลเกศวรอยู่บนยอด
แต่มีทฤษฎีใหม่แย้งว่า อาจเป็นภาพของพระเหวัชระ
เทพอีกองค์หนึ่งในพุทธศาสนาวัชรยานก็เป็นได้

เทพเจ้า "ตรีมูรติ" ในลัทธิ "ฮินดูตันตระ"
มีพระศิวะอยู่บนยอด พระนารายณ์อยู่ทางขวาและพระพรหมอยู่ทางซ้าย
ภาพสลักต้นเรื่องรามายณะ เมื่อฤๅษีวาลมิกิแลเห็นนายพรานสังหารคู่กระเรียน
เกิดความสลดใจ อุทานเป็นโศลก พระพรหมจึงปรากฏพระองค์กล่าวแก่ฤๅษี
ให้ร้อยเรียงวีรกรรมของพระรามด้วยฉันทลักษณ์นั้น
ภาพกว้าง
ผังปราสาทจากวารสารเมืองโบราณ
วารสารเมืองโบราณ ฉบับ ๓๗.๒
ผู้มีอุปการะคุณของทั้งสามบ้าน อิอิ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น