วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วนอุทยานพนมสวาย จังหวัดสุรินทร์

21 กุมภาพันธ์ 2554


ตั้งอยู่ในพื้นที่ 2 ตำบลคือ ตำบลนาบัว ตำบลสวาย มีเนื้อที่ 1,975 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาสวายท้องที่ตำบลนาบัว อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ "พนมสวาย" เป็นคำภาษาพื้นที่เมืองสุรินทร์ "พนม" แปลว่าภูเขา "สวาย" แปลว่า "มะม่วง" ในหมู่พนมสวายประกอบด้วยภูเขา 3 ลูกติดต่อกันซึ่งมีมีชื่อพื้นเมืองเรียกแตกต่างกันไป ได้แก่

"พนมกรอล" แปลว่า "เขาคอก" มีความสูงประมาณ 150 เมตร เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธสุรินทรมงคล
"พนมเปร๊า แปลว่า "เขาชาย" มีความสูงประมาณ 220 เมตร เป็นที่ตั้ง วัดพนมศิลาราม
"พนมสรัย" แปลว่า "เขาหญิง" มีความสูงประมาณ 210 เมตร สถูปอัฐิพระราชวุฒาจารย์ (ดูลย์ อตุโล)

รวมกันทั้ง 3 ลูก มีชื่อว่า เขาพนมสวาย ความจริงพนมสวายคือ ภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว จึงมีลานหินกระจายทั่วไป เนื่องจากวนอุทยานพนมสวายได้สำรวจทั่วบริเวณวนอุทยานพบว่า มีต้นกล้วยไม้ป่าอยู่เป็นจำนวนมาก ทางวนอุทยานได้จัดต้นกล้วยไม้ป่ามาติดไว้ตามต้นไม้ต่างๆ ริมถนน ริมลานจอดรถบ้าง วนอุทยานพนมสวายถือว่าเป็นวนอุทยานเฉลิมพระเกียรติแห่งหนึ่งในประเทศไทย และเป็นสถานที่แสวงบุญของชาวไทยที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เขตอุทยานพนมสวาย เขาพนมสวาย เป็นภูเขาที่โผล่ขึ้นมาโดดๆบนที่ราบทำนาของจังหวัดสุรินทร์



พระพุทธสุรินทรมงคล

เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร ตั้งอยู่ในวนอุทยานพนมสวาย เขาชาย จังหวัดสุรินทร์ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก มีหน้าตักกว้าง 15 เมตร สูง 25 เมตร การสร้างพระพุทธรูปเริ่มในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2518 แลัวเสร็จในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2520 ต่อมาใน พ.ศ.2523 ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ได้ขอพระราชทานชื่อพระพุทธรูป พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงพระราชทานว่า "พระพุทธสุรินทรมงคล" ต่อมาใน พ.ศ.2527 จึงมีพิธีเบิกพระเนตรพระพุทธสุรินทรมงคล และอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุไว้ ณ พระนาภี



บันไดระฆังพันใบ
เป็นบันไดขึ้นสู่พระพุทธสุรินทรมงคล สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2550 ตามโครงการ "ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2550" นายพูนศักดิ์ ประณุทนรพาล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ และคณะสงฆ์จังหวัดสุรินทร์ ร่วมกันจัดหาระฆัง 1,080 ใบ จากวัดทั้งหมดในจังหวัดสุรินทร์ 1,070 วัด และวัดสำคัญในกรุงเทพมหานคร อีก 10 วัด มาติดตั้ง จึงเป็นที่มาของชื่อบันไดระฆังพันใบ




สถูปอัฐิพระราชวุฒาจารย์ (ดูลย์ อตุโล)
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล (วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์) เกิดในสกุลเกษมสินธ์ เมื่อวันที่  4 ตุลาคม พ.ศ.2431 ที่ ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ได้อุปสมบท ณ วัดจุมพลสุทธาวาส อ.เมือง จ.สุรินทร์ เมื่อ พ.ศ.2453 โดยมีพระครูวิมลศีลพรต เป็นพระอุปัชฌาย์ มีสมณศักดิ์ พระราชวุฒาจารย์ มรณภาพเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2526 อายุ 96 ปี 74 พรรษา

เมื่อแรกบวช หลวงปู่ได้พากเพียรศึกษาการปฏิบัติกรรมฐานอย่างเคร่งครัด มีความวิริยะ อุตสาหะอย่างแรงกล้า จนล่วงเข้าพรรษาที่ 6 หลวงปู่จึงหันมาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดสุทัศน์ จ.อุบลราชธานี สอบได้นักธรรมชั้นตรีเป็นรุ่นแรกของจังหวัดอุบลราชธานี และได้ศึกษาบาลีไวยากรณ์ (มูลกัจจายน์) จนสามารถแปลพระธรรมบทได้ เนื่องจากวัดสุทัศน์ เป็นวัดที่อยู่ในสังกัดธรรมยุตินิกาย หลวงปู่จึงได้ขอญัตติเป็นธรรมยุตินิกายใน พ.ศ.2461 ณ วัดสุทัศน์ โดยมีพระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์ และในพรรษาต่อมาหลวงปู่ได้มีโอกาสพบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เมื่อได้ฟังธรรมเพียงครั้งเดียวจากพระอาจารย์มั่น ก็เกิดความอัศจรรย์ใจยิ่ง จึงได้เลิกศึกษาพระปริยัติแล้วออกธุดงค์ตามพระอาจารย์มั่น ไปยังที่ต่างๆ หลายแห่ง จึงนับได้ว่าหลวงปู่เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นในสมัยแรก ต่อมาเจ้าคณะมณฑลนครราชสีมาขอให้หลวงปู่กลับ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อบูรณะวัดบูรพาราม หลวงปู่จึงจำต้องระงับกิจธุดงค์และเริ่มงานบูรณะตามที่ได้รับมอบหมาย หลวงปู่ได้อุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนาอย่างแท้จริง จนได้รับการยอมรับจากสาธุชนทั้งหลายว่าเป็นอริยสงฆ์ที่หาได้ยากยิ่งองค์หนึ่ง


พิกัด : N14.76282 E103.37435


ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
ทัศนาจร


ขอบคุณข้อมูล หลวงปู่ดูลย์ อตุโล  จากธรรมะไทย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น