วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย


1 ธันวาคม 2551

วัดพระแก้ว เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ที่ถนนไตรรัตน์ ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2521

วัดพระแก้ว เดิมชื่อวัดป่าเยี้ยะ หรือป่าญะ เนื่องจากภายในบริเวณวัดมีไม้เยี้ยะซึ่งเป็นไม้ไผ่พันธ์พื้นเมืองชนิดหนึ่งคล้ายไม้ไผ่สีสุก ไม่มีหนาม ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก (ชาวบ้านนิยมนำไม้ชนิดนี้ไปทำหน้าไม้หรือขาธนู) จนกระทั่ง พ.ศ. 1977 ฟ้าผ่าองค์พระเจดีย์ พบพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองอยู่ภายใน จึงนำมาประดิษฐานไว้ในวิหาร ต่อมาปูนบางแห่งหลุดกะเทาะออก แลเห็นเนื้อแก้วสีเขียวภายใน จึงกะเทาะปูนออกทั้งองค์ พบพระพุทธรูปทำด้วยแก้วมรกต มีพุทธลักษณะงดงามมาก จึงทำให้วัดป่าเยี้ยะได้รับการขนานนามว่า วัดพระแก้ว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากนั้นได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐาน ณ เมืองต่างๆ คือ ลำปาง เชียงใหม่ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ กรุงธนบุรี และกรุงเทพมหานคร ตามลำดับ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนองค์พระเจดีย์ เป็น โบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อ พ.ศ.2478





พระอุโบสถ พระวิหารทรงเชียงแสน มีลักษณะฐานเตี้ย เชิงหลังคาลาดต่ำ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2433 ได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2495 พระประทานในอุโบสถ (พระเจ้าล้านทอง) เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย นับเป็นพระพุทธรูปในสกุลช่างศิปปาละที่ใหญ่ และสวยงามที่สุดในประเทศไทย


พระประธานที่ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระแก้ว เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูงจากทับเกษตรถึงยอดพระรัศมี 2.80 เมตร รอบพระเศียร 1.60 เมตร นั่งขัดสมาธิราบ พระรัศมีเป็นลักษณะมีดอกบัวตูมอยู่ในเปลวเพลิง ชายสังฆาฏิสั้นเหนือราวพระถัน เม็ดพระศกใหญ่ พระหนุสองชั้นเป็นปมใหญ่และชัดมาก เดิมเป็นของวัดพระเจ้าล้านทอง แต่ได้มีสภาพเป็นวัดร้าง จึงได้รื้อไป ปัจจุบันคือบริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และโรงเรียนอนุบาลเชียงราย เมื่อวัดพระเจ้าล้านทองถูกรื้อ จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปไปไว้วัดดอยงำเมือง หรือดอยงามเมือง ต่อมาพระครูธรรมวงศ์วิวัฒน์ (พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์) ได้ขออนุญาตกรมศิลปากรอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสุวัดพระแก้ว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504 ชาวเชียงรายจึงนิยมเรียกกันว่า พระเจ้าล้านทอง


วัดในเขตภาคเหนือสมัยโบราณ นอกจากจะมีอุโบสถ วิหาร ศาลา กุฏิ หอฉัน หอธรรม หอระฆัง หอกลอง ฯลฯ แล้วยังมี หอพระ เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของวัดอีกด้วย


หอพระหยกเชียงรายนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญเช่นเดียวกัน โดยสร้างเป็นอาคารไม้ ทรงล้านนาโบราณ ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 12 เมตร สร้างโดยคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย และพุทธศาสนิกชนจังหวัดเชียงรายร่วมกันบริจาคทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้รับพระกรุณาจากกองทุนการกุศลสมเด็จย่า ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2534 ภายในหอพระหยกมี พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคลนามสามัญว่า พระหยกเชียงราย ประดิษฐานในบุษบกทำด้วยไม้แกะสลักปิดทอง สูง 5.60 เมตร เรือนยอดบุษบกทำด้วยไม้สักสลักลวดลาย ลงรักปิดทองประดับกระจก มีฉัตร 7 ชั้น ทำด้วยเงินแท้ลงรักปิดทอง เรียกว่า ฉัตรเงิน ฉัตรทองมีส่วนสูง 40 เซนติเมตร



เนื่องในมหามงคลสมัยที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเจริญพระชนมายุ 90 พระชันษา เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2533 คณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย ได้จัดสร้าง พระแก้วหยกเชียงรายขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า วัดพระแก้วแห่งนี้เคยเป็นที่ค้นพบพระแก้วมรกตมาก่อน การสร้าง พระแก้วหยกเชียงรายก็เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้สักการบูชาและน้อมจิตรำลึกว่า วัด (พระแก้ว) นี้ ก็มีความสำคัญคู่พระบารมีของพระองค์  (พระแก้วมรกต) อีกทั้งเป็นการเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมายุ 90 พระชันษา ด้วยพระองค์ทรงเปรียบประดุจประทีปนำควาเจริญก้าวหน้ามาสู่เมืองเชียงราย



พระแก้วหยกเชียงรายเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิราบฐานเขียง ขนาดหน้าตักว้าง 47.9 ซ.ม. สูง 65.9 ซ.ม. ซึ่งเป็นส่วนสัดที่ใกล้เคียงกับพระแก้วมรกต (กว้าง 48.3 ซ.ม. สูง 66 ซ.ม.) สร้างด้วยหยกชนิดที่ดีที่สุดจากประเทศแคนาดา ซึ่งมิสเตอร์ ฮูเวิร์ด โล เป็นผู้นำมาถวายเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย โดยมีอาจารย์กนก วิศวะกุล เป็นผู้ปั้นหุ่นต้นแบบ แล้วส่งให้มิสเตอร์เหยน หวุน หุ้ย นายช่างแกะสลักหยกของโรงงานวาลินนานกู เมืองปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นผู้แกะสลัก โดยได้รับความอุปถัมภ์จาก พณฯ พลเอกชาติชาย และท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัน เป็นประธานอุปถัมภ์และบริจาคเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้าง



พิกัด : N19.91186 E99.82809

ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
ทัศนาจร



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น