วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ปราสาทสด๊กก๊อกธม

12 สิงหาคม 2552




ปราสาทสด๊กก๊อกธมหรือปราสาทเมืองพร้าว เป็นโบราณสถานประเภทหินอยู่กลางป่าตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ตั้งอยู่ที่ บ้านหนองเสม็ด หมู่ 3 ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว เป็นศาสนสถานฮินดู ที่สร้างขึ้นตามลักษณะศิลปะเขมรแบบคลังต่อบาปวน ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15-16

ปราสาทสด๊กก๊อกธม แปลว่า ปราสาทใหญ่ที่มีต้นกกขึ้นรกรุงรัง เป็นปราสาทก่อด้วยหินและศิลาแลง หันไปทางทิศตะวันออก ประกอบไปด้วยตัวปราสาทและบาราย ตัวปราสาทด้านนอกเป็นกำแพงแก้ว ก่อด้วยศิลาแลง กว้าง 120 เมตร ยาว127 เมตร มีทางเข้าออกสองทาง คือ โคปุระ (ซุ้มประตู) ทางทิศตะวันออก และทางเข้าเล็กๆพอตัวคนผ่านเข้าไปได้ทางทิศตะวันตก มีคูน้ำรูปตัวยูล้อมตัวปราสาท เว้นทางเข้าออกทางทิศตะวันออกและตะวันตกไว้สองด้าน ตัวคูกว้างประมาณ 20 เมตร ด้านในมีระเบียงคดล้อมรอบตัวปราสาท กว้างประมาณ 36.5 เมตร ยาวประมาณ 42.5 เมตร มีโคปุระอยู่กึ่งกลางกำแพงทั้งสี่ด้าน ภายในระเบียงคดเป็นที่ตั้งของปรางค์ประธานตั้งอยู่ตรงกลาง มีประตูเข้าทางเดียวด้านตะวันออก ส่วนอีกสามด้านเป็นซุ้มประตูหลอกเข้าออกไม่ได้

ภายในปรางค์ประธานเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ ซึ่งเป็นรูปเคารพแทนองค์พระศิวะ บ่งบอกว่าปราสาทแห่งนี้เป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย พื้นที่ด้านหน้าปรางค์บริเวณมุมระเบียงคดเป็นที่ตั้งบรรณาลัยสองหลัง สันนิษฐานว่าเป็นที่เก็บตำราคัมภีร์ ปราสาทแห่งนี้มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกของไทย มีการค้นพบหลักจารึกจำนวน 2 หลัก ซึ่งมีความสำคัญต่อการศึกษาลำดับกษัตริย์ราชวงศ์เขมรอย่างมาก แม้ในดินแดนเขมรเองก็ยังไม่เคยมีการพบจารึกลักษณะนี้

จารึกหลักแรกระบุว่าพบที่ บ้านสระแจง ต.โคกสูง (ไม่ได้พบที่ปราสาท) ระบุศักราชตรงกับ พ.ศ.1480 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 4 (ศิลปะแบบเกาะแกร์) เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการถวายทาสชายหญิงดูแลรักษาศิวลึงค์

จารึกหลักที่สองระบุว่าพบที่ ปราสาทเมืองพร้าว อันเป็นชื่อเดิมของปราสาทสด๊กก๊อกธม ตัวจารึกระบุศักราชตรงกับ พ.ศ.1595 (ศิลปะแบบคลัง-บาปวน) จากรึกนี้ได้กล่าวถึงการที่พระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 พระราชทานที่ดินและคนเพื่อสร้างปราสาทถวายแด่พราหมณ์สทาศิวะผู้เป็นอาจารย์ กล่าวถึงประวัติการประดิษฐานลัทธิเทวราช และประวัติการสืบสายตระกูลพราหมณ์ในราชสำนักของเขมร ที่มีความสัมพันธ์กับลำดับการสืบสันตติวงศ์ของกษัตริย์เขมร อันเป็นหลักฐานที่มีคุณค่าต่อการศึกษาประวัติศาสตร์เขมรสมัยโบราณเป็นอย่างมาก ปัจจุบันนี้จารึกสด๊กก๊อกธมได้ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร

ที่ปราสาทด้านขวามีสิ่งที่น่าสนใจ คือ หน้าบันที่มีลวดลายจำหลักเป็นรูปพระโพธิสัตว์ ประทับนั่งเหนือเกียรติมุข ที่เชิงชายเป็นรูปนาคปรก ซุ้มประตูทางเข้าด้านหน้ามีขนาดใหญ่เกือบเท่าซุ้มประตูทางเข้าที่ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ส่วนปราสาทด้านซ้ายและปราสาทองค์ประธานอยู่ในสภาพที่ปรักหักพัง ห่างจากกำแพงด้านนอกเล็กน้อย ทางทิศตะวันออกจะพบสระน้ำขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 200 เมตร ยาวประมาณ 300 เมตร

ในปี พ.ศ.2505 กรมศิลปากร ได้เข้ามาเข้ามาสำรวจและทำการบูรณะปราสาท โดยได้นำวิธี อนัสติโลซิส” (Anastylosis) มาใช้เป็นแห่งแรก อนัสติโลซิส” (Anastylosis) เป็นภาษากรีก หมายถึง "การบูรณะปฏิสังขรณ์" (Restoration) “การตั้งเสาขึ้นใหม่” (Re-Erection of Columns) แล้วได้กลายมาเป็นความหมายในปัจจุบันว่า "การประกอบขึ้นใหม่ของชิ้นส่วนที่มีอยู่แต่แยกหลุดออกจากกัน" (The Reassembling of Existing but Dismembered Parts) กล่าวให้เข้าใจโดยง่ายก็หมายความว่า เป็นกรรมวิธีบูรณะโบราณสถาน โดยทำสัญลักษณ์อิฐหินแต่ละก้อน ตลอดจนชิ้นส่วนลวดลายต่าง ๆ ที่พบบริเวณโบราณสถานอย่างละเอียด ก่อนที่จะรื้อออกทั้งหมด จนถึงขั้นขุดรากฐานตรวจสอบว่าแข็งแรงพอหรือไม่ หากยังไม่แข็งแรงพอก็ต้องเสริมฐานให้มั่นคง หลังจากนั้นก็นำชิ้นส่วนที่รื้อออก รวมทั้งชิ้นส่วนที่พบในบริเวณนั้นไปประกอบให้เหมือนเดิมตามที่บันทึกไว้ตามหลักวิชาการ

วิธีซ่อมแบบนี้เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์ชนิดหนึ่ง ที่มุ่งหวังทำให้เห็นลักษณะ โครงสร้างของซากอาคารให้ชัดเจน โดยการนำกลับสู่รูปทรงเดิม ใช้วัสดุดั้งเดิมที่เหลืออยู่ ซึ่งอยู่ในสภาพเหมาะที่จะใช้การได้ และมีอยู่ที่แหล่งเดิมอยู่แล้ว การทำงานจะต้องอยู่ภายใต้กฏการอนุรักษ์ และจะต้องมีหลักฐานทางโบราณคดีมาสนับสนุนการบูรณะ โดยทั่วไปแล้ววิธีนี้เป็นวิธีเดียวในการก่อสร้างขึ้นใหม่ ที่ได้มีการยอมรับไปใช้กับแหล่งมรดกโลก


พิกัดปราสาทสด๊กก๊อกธม : N13.84349 E102.73647

ขอบคุณที่ติดตามชมครับ
นายทัศนาจร


























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น